แต่ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย ณ เวลานี้ก็ยังคงสวนทางกับการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุเกิน 1 ล้านคน ผู้เสียชีวิตเกิน 1 หมื่นคน!! เชื่อว่ามีหลายครอบครัวของผู้เสียชีวิต ญาติพ่อแม่พี่น้องคงยังไม่หายจากความโศกเศร้า เพราะนึกไม่ถึงว่าจะต้องมาพลัดพรากจากกันไปด้วยโควิด-19 แค่ระยะเวลาปลายเดือน เม.ย.-ส.ค.64 ประชาชนต้องจบชีวิตไปนับหมื่นคน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เริ่มมีการรวมตัวเพื่อฟ้องเอาผิดต่อรัฐในการบริหารงานผิดพลาด ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย นำกลุ่มประชาชนชุดแรก 8 คน ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ
ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 165 กรณีปล่อยปละละเลยและบริหารผิดพลาด จนเกิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ศาลพิจารณาตรวจฟ้องเบื้องต้นแล้ว มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือไม่ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11 เห็นควรส่งสำนวนนี้ให้ ประธานศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ และรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวก่อนจนกว่า ประธานศาลอุทธรณ์จะได้มีคำวินิจฉัยให้นัดพร้อมเพื่อรอฟังผลหรือฟังคำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 09.00 น.

สมาคมทนายความฯ ช่วยฟ้องทั้งอาญาแพ่ง

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ติดต่อสัมภาษณ์ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ถึงเรื่องการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การบริหารจัดการโควิด ในไทยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดไม่เพียงพอกับประชาชน รวมถึงปัญหาการสั่งวัคซีนอย่างซิโนแวคจนตอนนี้สภาวะ เศรษฐกิจทรุดตัวอย่างหนัก ตรงข้ามกับหลายประเทศที่เริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ตอนนี้สมาคมทนายความฯ ได้ทำเรื่องยื่นฟ้องไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในประเด็นบริหารประเทศผิดพลาดทำให้ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากโรคโควิด โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 7 แสนคน

“นอกจากนี้ประชาชนที่มาร่วมลงชื่อต่างเห็นพ้องกันด้วยว่า การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นการปฏิบัติโดยมิชอบของนายกรัฐมนตรี และมีนัยที่ผิดปกติ แต่ตอนนี้ก็ยังมีการสั่งซิโนแวคเพิ่มเข้ามาอีก ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมลงชื่อฟ้องร้อง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่มีญาติเสียชีวิตจากโควิด, ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือไม่ได้รับเงินเยียวยา รวมถึง นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ได้มาร่วมเป็นโจทก์ในการฟ้องร้อง
คดีนี้ด้วย

การฟ้องร้องอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมุ่งเน้นฟ้องร้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยตรงในส่วนต่าง ๆ ซึ่งถ้าหลังจากรับฟ้องในคดีอาญาแล้ว จะมีการดำเนินการเพื่อฟ้องร้องในคดีแพ่งต่อไป โดยในการฟ้องต้องรวบรวมว่า ผู้ที่ลงชื่อได้รับผลกระทบด้านไหน โดยกฎหมายได้เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ เราจะเร่งรวบรวมปัญหาของผู้ที่มาลงชื่อ ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างเพื่อนำมาแยกฟ้องในแต่ละคดี

ห่วงรัฐหนีผิดหมกเม็ด “...นิรโทษกรรม

นายนรินท์พงศ์ มีมุมมองด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งออก “พ.ร.ก.นิรโทษกรรม” บุคลากรทางสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แม้จะมีการอ้างเหตุผลจากรัฐบาลว่า เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้สบายใจขึ้น แต่ในกฎหมายที่มีอยู่เดิมก็มีกฎหมายที่คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานด่านหน้าไม่ให้ถูกฟ้องร้องอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามีการทำงานตามหลักสากล และไม่ละเลยทีมแพทย์ก็จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จึงเกิดคำถามว่า ทำไมต้องออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม มาซ้อนกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเนื้อหา พ.ร.ก.นิรโทษกรรม มีการจำแนกบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้อ ๆ ซึ่งตั้งแต่ข้อ 1–6 ไม่มีข้อสงสัย

แต่ใน “ข้อที่ 7” กรณียกเว้น “ผู้สั่งการ” หรือ “ผู้บริหาร” ซึ่งกลุ่มคนข้อนี้ไม่ได้ทำงานด่านหน้า จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะต้องแสดงความรับผิดชอบ

ขณะเดียวกันการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมนี้ก็ไม่ถูกต้องในเชิงกฎหมาย เพราะยังไม่ใช่กรณีเร่งด่วน เนื่องจากการออก พ.ร.ก.จะเป็นการใช้อำนาจรวบรัด โดยไม่มีการอภิปรายในสภาแต่ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติ ซึ่งหากผ่าน คดีที่มีการฟ้องร้องนายกฯในกรณีประพฤติมิชอบจะถูกยกฟ้องทันที เพราะจะได้รับการยกเว้น จากการระบุใน “ข้อที่ 7” ทั้งที่ไม่ใช่ กลุ่มบุคคลด่านหน้า หาก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมผ่านในเชิงกฎหมายจะไม่สามารถฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีได้ในกรณีที่สร้างความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาโควิด โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล ที่จะมีการสอดไส้เพื่อผลประโยชน์แอบแฝงของผู้มีอำนาจ ดังนั้น พ.ร.ก.นี้จึงมีความน่ากังวลอย่างมาก

“ในขณะนี้ยังมีความสงสัยจากประชาชนเรื่องการสั่งซื้อวัคซีน โดยเฉพาะการสั่งซื้อซิโนแวค ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการร้องขอให้เปิดเผยสัญญาในการสั่งซื้ออย่างละเอียด แต่หน่วยงานรัฐก็อ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยสัญญาได้ ดังนั้นหากในอนาคตมีการเปิดเผยได้แล้ว ไปพบหลักฐานว่าเกิดการทุจริต นายกฯ และผู้สั่งการก็จะมีความผิด แต่ถ้า พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ผ่านอาจจะส่งผลทำให้เอาผิดได้ยากขึ้น

ประชาชนต่อสู้ท่ามกลางอุปสรรคเพียบ

สำหรับในทางกฎหมาย พ.ร.ก.ฯควรจะต้องออกมาในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคง แต่การพยายามออกกฎหมายฉบับนี้ทั้งที่กฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ก็มีอยู่แล้ว ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนจึงไม่ค่อยเห็นด้วย เนื่องจากเป็นการนำเอาบุคลากรทำงานด่านหน้ามาเป็นข้ออ้างเพื่อหวังจะช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

นายกสมาคมทนายความฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐ เชิงกฎหมายมีการระบุไว้อยู่แล้วครบถ้วน และประชาชน มีสิทธิที่จะฟ้องร้องได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่มีอำนาจ มักไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากยังมีระบบพวกพ้องของผู้มีอำนาจช่วยเหลือกันอยู่ เช่น การไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือการไปยื่นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยเฉพาะการไปฟ้องร้องกับ ’องค์กรอิสระ“ ในยุคนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ค่อยจะโปร่งใส ดังนั้นกระบวนการฟ้องร้องของประชาชนที่มีต่อการทำงานทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ มักจะถูกปัดตก ทั้ง ๆ ที่มีคดีฟ้องร้องเต็มไปหมด กระบวนการพิจารณามักไม่ได้รับการตอบสนอง

ทุกวันนี้ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม เกิดจากรัฐธรรมนูญที่มุ่งการสืบทอดอำนาจ และมักจะแต่งตั้งกลุ่มบุคคลในพวกพ้องตนเอง ให้อยู่ในองค์กรต่าง ๆ ถือเป็นความล้มเหลวจนส่งผลให้เกิดปัญหามากมายในสังคมไทย.