เมื่อวันที่ 6 ก.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจ่ายเงิน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ที่จังหวัดนครปฐม โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสรรเงินเยียวยาดังกล่าวพบว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งทยอยจ่ายเงินเยียวยาแล้วกว่า 40% ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมาดูว่าการจัดสรรเงินเยียวยาที่รัฐบาลอนุมัติให้สถานศึกษาในสังกัดถูกจัดสรรถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนเรียบร้อยดีหรือไม่ โดย ศธ. ได้มอนิเตอร์ข้อมูลการจัดสรรเงินเยียวยาตลอดเวลา เพราะต้องการให้กระบวนการจัดสรรเงินนั้นมีความสะดวกและเกิดความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเงินผ่านบัญชีธนาคารของผู้ปกครอง หรือให้มารับเงินสดที่โรงเรียน และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หากสถานศึกษาให้ผู้ปกครองมารับเงินเยียวยาที่โรงเรียนจะต้องมีมาตรการจัดสรรช่วงเวลาอย่างเหมาะสม เพื่อลดการแออัดรวมตัวของผู้ปกครอง สำหรับสถานศึกษาใน จ.นครปฐม บัญชีจัดสรรเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีนักเรียนในจังหวัดที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินทั้งสิ้น 145,940 คน รวมเป็นเงิน 291,880,000 บาท

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีสถานศึกษาทำรายชื่อผู้ปกครองและนักเรียนตกหล่นนั้น ประเด็นนี้อาจเป็นรอยต่อของการอนุมัติโครงการจัดสรรเงินเยียว จำนวน 2,000 บาทของรัฐบาล เนื่องจากนักเรียนบางคนอยู่ระหว่างการย้ายโรงเรียนระหว่างชั้น จึงทำให้รายชื่อไม่สัมพันธ์กับข้อมูลโรงเรียน และกระบวนการจ่ายเงินล่าช้า ดังนั้นโรงเรียนจะต้องประสานร่วมกันระหว่างโรงเรียนต้นทางที่นักเรียนย้ายเข้ามาเรียนด้วย แต่ยืนยันว่านักเรียนและผู้ปกครองจะได้รับการจัดสรรเงินเยียวยาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่าเงินจำนวน 2,000 บาทเป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจัดสรรให้นักเรียนและผู้ปกครองตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษา และกลุ่มนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะต้องดำเนินการจัดสรรให้ถึงมือนักเรียนและผู้ปกครองเท่านั้น และขอสั่งห้ามสถานศึกษากักเงินไว้เด็ดขาดแม้ผู้ปกครองจะยังค้างชำระค่าเทอมก็ตาม

“สำหรับกระบวนการโอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ปกครองนั้น ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ทำความเข้าใจแก่ผู้บริหารทั่วประเทศว่าแต่ละสถานศึกษามีปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวอย่างไรบ้าง ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองรับเงินเยียวยาไม่เต็มจำนวน เนื่องจากมีการหักค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างบัญชีธนาคารนั้น ขอย้ำว่าหลักการจัดสรรเงินของ ศธ. จะต้องดำเนินการให้เกิดความยืดหยุ่น ดังนั้นหากผู้ปกครองไม่สะดวกโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร สามารถรับเป็นเงินสดที่สถานศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม ดิฉันตั้งเป้าการจัดสรรเงินเยียวยาให้เสร็จภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้” น.ส.ตรีนุช กล่าว