หากใครที่ชื่นชอบผลงานแนวหนังสั้น ขอแนะนำ  “ชอร์ต เซอร์คิท (Short Circuit)” หนังสั้นเชิงทดลอง อีกหนึ่งผลงานจาก “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์”  ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างสรรค์เชิงทดลอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานในสตูดิโอ ได้นำเสนอไอเดียและร่วมกันสร้างเป็นเรื่องสั้นออกมา หากเรื่องไหนผ่านการคัดเลือก ก็จะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นของตัวเองในรูปแบบอนิเมชั่น และฉายทาง “ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” โดยในซีซั่น 2 นี้ ได้รวมเอาเรื่องราวหนังสั้นที่น่าสนใจทั้งหมด 5 เรื่อง มาเอาใจแฟน ๆ ซึ่งแต่ละตอนความยาวเพียง 2- 3 นาทีเท่านั้น วันนี้ “มูฟวี่โซน” จึงไม่พลาดพาไปพบกับทั้ง 5 เรื่องราวเหล่านี้ พร้อมลงลึกถึงแรงบันดาลใจของทั้ง 5 ผู้กำกับ ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนมีผลงานที่ไม่ธรรมดากัน

“คนเถื่อนขี่ไดโนเสาร์  (Dinosaur Barbarian)” กำกับโดย คิม เฮเซล (Kim Hazel)

เรื่องย่อ : การต่อสู้กับความชั่วร้ายนั้นใช้เวลาเพียงวันเดียวสำหรับ “ไดโนซอร์ บาร์บาเรี่ยน” แต่การเอาขยะออกไปทิ้งล่ะ? บางครั้งแม้แต่ซูเปอร์ฮีโร่ยังต้องมาตามล้างตามเช็ดสิ่งที่เขาได้ทำเอาไว้

ผู้กำกับ คิม เฮเซล  เผยว่า “ฉันได้ไอเดียเรื่องนี้จากการเล่นมุกขำ ๆ ช่วงมื้อเที่ยง ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน 2 มิติ กับภาพแฟนตาซีช่วงยุค 80 ตอนที่ฉันเรียนการทำแอนิเมชั่น เวลาที่ฉันอยากรู้สึกฮึกเหิม ฉันจะนั่งดูพวกเพลงประกอบการ์ตูน ฉันชอบอะไรแบบนั้นมาก มันทำให้ฉันรู้สึกมีพลังค่ะ เราได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงที่สุดยอด อย่าง มอนโด บอยส์ พวกเขาเขียนดนตรีออกมาได้ดีและติดหูมาก ฉันถึงกับเก็บไปร้องตอนอาบน้ำเลย หนังสั้นเรื่องนี้เป็นการ์ตูนสองมิติแบบคลาสสิคทั้งเรื่อง แปลว่าทุกฉากเป็นการวาดมือ มันเป็นสิ่งพิเศษมากเพราะฉันได้ร่วมงานกับนักวาดที่สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนที่ฉันชอบมาตั้งแต่เด็กจนโต แล้วตอนนี้พวกเขามาวาดงานจากความคิดเพี้ยน ๆ ของฉัน หวังว่าคุณจะชอบหนังสั้นเรื่องนี้ และขอให้เพลงติดหูไปตลอดเหมือนกันกับฉันนะคะ”

สำหรับ คิม เฮเซล เริ่มทำงานกับทาง “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์”  ในปี 2013 ในฐานะเด็กฝึกด้านแอนิเมชั่น และมีผลงานในฐานะแอนิเมเตอร์ (Animator นักวาดการ์ตูน) อาทิ Frozen 2” ,“Ralph Breaks the  Internet”, ผลงานที่คว้ารางวัลภาพยนต์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์ อย่าง “Big Hero 6” และ “Zootopia” รวมถึงล่าสุด  “Raya and the Last Dragon.” เป็นต้น  ทั้งนี้ความปารถนาของเธอก็คือการสร้างเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความหมาย และทิ้งสิ่งที่เป็นความประทับใจในเชิงบวกเอาไว้ในโลกใบนี้ ซึ่งนั่นนำพาให้เธอมาทำงานที่ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สถานที่เธอรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับผู้คน ที่ได้นำชีวิตมาสู่ตัวละครที่เธอรักตั้งแต่วัยเด็ก

ลับบ้าน (Going Home) กำกับโดย เจค็อบ เฟรย์ (Jacob Frey)

เรื่องย่อ :  เรื่องราวเกี่ยวกับการเติบโตและความหมายของบ้านที่คนหนุ่มสาวกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ทุกครั้งที่กลับไปใหม่ เขาต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง

ผู้กำกับ เจค็อบ เฟรย์ เผยว่า “ผมอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกามา 5 ปีแล้วครับ ตอนที่ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ผมเริ่มเห็นสภาพแวดล้อมค่อย ๆ เปลี่ยน บางอย่างมันแปลก ๆ ไป ยิ่งผมกลับไปเยี่ยมครอบครัวเพื่อนบ่อยเท่าไหร่ ก็มีสิ่งเปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น ที่น่าเศร้าคือสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่ได้แค่สถานที่กับสิ่งแวดล้อม แต่ผู้คนก็เปลี่ยน ผมรู้สึกซาบซึ้งมาก ที่พ่อแม่คอยสนับสนุนผมตลอดเวลา ตั้งแต่ผมยังเด็ก คือผมได้ลองทำการ์ตูนเรื่องแรกกับพ่อแม่ แล้วพวกมาท่านก็มาเป็นนักแสดงให้หนังสั้นของผม สุดท้ายแล้วผมมาได้ไกลถึงดิสนี่ย์ จากเมืองเล็ก ๆ ในเยอรมนี ผมทึ่งมากและผมได้ทำงานกับคนเก่ง ๆ เหล่านี้ ผมไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่ามันจะเป็นไปได้ ความโดดเด่นของแอนิเมชั่นชุดนี้คือ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ได้ เป็นเรื่องตลกหรือเศร้าก็ได้ ขอบเขตกว้างมากครับ โปรเจ็คนี้สามารทำให้เราขยายขอบเขตของสิ่งที่เราเคยรับรู่ออกไปได้ไกลมาก หวังว่าคุณจะชอบหนังสั้นเรื่องนี้ของผมนะครับ”

สำหรับ เจค็อบ เฟรย์  เริ่มทำงานกับทาง “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์”  ในปี 2014 ในฐานะเด็กฝึกด้านแอนิเมชั่น ก่อนกลายมาเป็น ผู้ช่วยของแอนิเมเตอร์ (Assistant Animator) ในผลงาน “Zootopia” จากนั้นเขาก็มีผลงานในฐานะแอนิเมเตอร์ ใน “Moana,” “Ralph Breaks the Internet,” “Frozen 2,” และ “Raya and the Last Dragon.” โดยเขายังมีชื่อเป็นแอนเมเตอร์ ในการทำเรื่องสั้นแอนิเมชั่นในโปรเจ็ค “ชอร์ต เซอร์คิท” ซีซั่นแรก อย่าง “Cycles” และ “Puddles” มาแล้ว ทั้งนี้แรกเริ่ม เจค็อบ เฟรย์  สนใจในสายอาชีพกราฟฟิคดีไซน์ ก่อนจะเบนเข็มมาสู่งานสายแอนิเมชั่น หลังจากได้ดู “Finding Nemo” เขาเข้าเรียนที่ ฟิล์มอะคาเดมี บาเดิน–เวือร์ทเทมแบร์ก (Filmakademie Baden-Wuerttemberg)  ที่ลุดวิจส์บูร์ก  และเป็นผู้กำกับหนังสั้นแอนิเมชั่นหลากหลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์ดัง “The Present” โดยผลงานของเขาได้รับรางวัลมากกว่า 100 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่าง ๆ

ทางม้าลาย (Crosswalk) กำกับโดย ไรอัน กรีน (Ryan Green)

เรื่องย่อ :  พลเมืองที่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายต้องค้นหาพลังในตัวเอง เพื่อย่างเท้าข้ามถนนเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่สัญญาณไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ผู้กำกับ ไรอัน กรีน เผยว่า “ผมได้แรงบันดาลใจทำหนังสั้นเรื่องนี้จากเวลาที่ต้องเอาแต่ยืนรอไฟข้ามถนน กดปุ่ม ทุกครั้งที่ผมยืนรอ โดยเฉพาะเวลาที่ไม่มีรถวิ่งมาเลยสักคัน และผมก็ได้แต่ยืนอยู่ตรงนั้น รอแล้วรอเล่า รอวนไป ผมนึกภาพบรรพบุรุษของผมที่อาจต้องล่องเรือเดินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแสนน่ากลัว พยายามจะไปที่เกาะเอลลิส ผมนึกภาพพวกเขามองผมแล้วพูดว่า ‘เฮ้ มัวทำอะไรอยู่’ เอาแต่ยืนรอสัญญาณอนุญาตให้ข้ามถนน ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่าข้ามไปได้เลย มันทำให้ผมแอบรู้สึกขายหน้าอยู่ น่ารำคาญจริง ๆ นะ สีแดงนั่น แช่อยู่แบบนั้น ห้ามผมไม่ให้ทำโน่นนี่ ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสวาดกร์ตูนสองมิตินี้เอง เป็นภาพเคลื่อนไหวเอง คนเราไม่ควรวิ่งตัดหน้ารถเพื่อข้ามถนนนะ  ผมไม่ได้ส่งเสริมให้คนแหกกฎ แล้ววิ่งฝ่าเข้าไปกลางถนน แต่ผมหวังว่าคนที่ได้ดูเรื่องนี้ จะเข้าใจสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อครับ”

สำหรับ ไรอัน กรีน  เริ่มต้นที่ค่าย “ดิสนีย์ตูน สตูดิโอส์” ในปี 2010 ก่อนมาร่วมงานกับ “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์” ในอีก 3 ปีต่อมาในฐานะสตอรี่ อาร์ทิสต์ (Story Artist) โดยตำแหน่งนั้นเขามีผลงาน อย่าง “Moana” และ “Frozen” และยังมีส่วนร่วมใน “Ralph Breaks the Internet” , “Zootopia” รวมถึง “Raya and the Last Dragon.” โดย ไรอัน กรีน  เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต และได้รับวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีววิทยา : สรีรวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ก่อนเข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปะและการออกแบบโคลัมบัส (Columbus College of Art & Design) และจบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ ในสาขา Time-Based Media Studies : Animation เขารู้สึกถูกดิสนี่ย์ แอนิเมชั่นดึงดูดใจ ด้วยความปารถนาที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอที่ช่วยพัฒนาจินตนาการในวัยเด็กของเขา ผ่านภาพยนตร์ อย่าง “Alice in Wonderland” , “Robin Hood” และ “Pete’s Dragon”

บทเพลงสำหรับร้องยามมืดมิด (Songs to Sing in the Dark) กำกับโดย ไรอันนอน เดลานอย (Riannon Delanoy)

เรื่องย่อ :  สิ่งมีชีวิตสองตัวที่อาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำที่มืดมิดพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะกันและกัน แต่เมื่อสิ่งต่างๆ เริ่มบานปลายไปเรื่อยๆ พวกเขาก็เริ่มตระหนักว่าพวกเขาจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่ออยู่ด้วยกัน

ผู้กำกับ ไรอันนอน เดลานอย เผยว่า “หนังสั้นเรื่องนี้ผสมผสานความสนใจหลายอย่างของฉัน ธรรมชาติ สัตว์ประหลาด งานภาพที่อลังการและโดดเด่น เรื่องนี้ดูจะเข้ากับการใช้ดนตรีได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมันเกี่ยวกับเสียง ฉันเริ่มคิดว่า ‘เสียงมันเป็นยังไงกันแน่นะ’ มันเป็นฟอง มีรูปร่าง ตอนเดินเข้าไปในห้องหนึ่ง คุณรับรู้ได้ว่าเสียงมีความเป็นสามมิติ ฉันอยากทำอะไรใหม่ ๆ แบบว่าในโลกที่มืดสนิท แล้วมีพัฒนาการแสนสับสนวุ่นวายเข้าครอบงำ เสียงไม่ได้เป็นแค่เรื่องการบอกตำแหน่งหรือนำทาง มันยังเป็นเหมือนเกราะ การพรางตัวและภาพโฮโลแกรมสีสันสดใสอีกด้วยค่ะ”

สำหรับ ไรอันนอน เดลานอย ในวัย 12 ปี เธอรู้ประทับใจภาพยนตร์แอนิเมชั่น “เจ้าหญิงโมะโนะโนะเกะ”  ที่กำกับโดย มิยาซากิ  ซึ่งจากตรงนั้นทำให้เธออยากเข้ามาส่วนร่วมกับการทำแอนิเมชั่น เธอเริ่มต้นอาชีพนี้ที่ Rhythm & Hues รวมถึงที่ Blue Sky Studios ซึ่งเธอได้ทำผลงาน อย่าง  “Ice Age 4” ก่อนมาร่วมงานกับ “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์” ในปี 2012 ในฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมพัฒนาผู้มีความสามารถ (Talent Development program)  โดยมีผลงาน อาทิ “Frozen” , “Big Hero 6” , “Zootopia” , “Moana” , “Ralph Breaks the Internet,” “Frozen 2” , “Raya and the Last Dragon” รวมทั้งผลงานที่กำลังจะปล่อยในปีนี้ อย่าง  “Encanto”

สาย 2 สู่เคตเตอริ่ง (No. 2 to Kettering) กำกับโดย ลิซ่า รีอา (Liza Rhea)

เรื่องย่อ :  ในเช้าวันธรรมดาแสนน่าเบื่อ เด็กสาวได้เรียนรู้ว่าพลังแห่งเสียงหัวเราะสามารถขจัดแม้แต่อารมณ์ที่บูดบึ้งที่สุดในหมู่เพื่อนที่โดยสารรถบัสไปด้วยกันบนเส้นทางสู่แคตเตอริ่ง

ผู้กำกับ ลิซ่า รีอา เผยว่า “ฉันโตที่นอร์ทแธมป์ตัน อังกฤษ ฉันขึ้นรถเมล์สายสองไปโรงเรียน มันเป็นรถเมล์สองชั้นคันใหญ่สีแดง เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ไปแคตเตอริ่ง แล้วมีวันหนึ่งฉันเหลือบไปเห็นคนกำลังจะลงจากรถ และเขายิ้มให้ฉัน ตอนนั้นปฏิกิริยาแรกของฉันเป็นแบบว่า ‘โอ ไม่นะ! อย่าไปมองเขา อย่าไปตอบโต้’ แล้วฉันก็รู้สึกขึ้นมาว่า ‘จริง ๆ มันดีมากเลยนะ’ ฉันก็เลยอยากจะแบบว่า ทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ถึงกับกลายเป็นเด็กเพี้ยนบนรถเมล์นะ ฉันจะสบตาคนอื่นและยิ้มให้เขา ฉันเลยได้ฉายาว่า ‘เด็กช่างยิ้ม’ จากพวกคนขับรถเมล์ ฉันเล่นกับสีเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้ที่เปลี่ยนไปมาของเด็กผู้หญิงคนนี้ สไตล์อีกอย่างที่พวกเราเลือกใช้ก็คือ พยายามทำให้มันดูคล้ายการ์ตูนสต็อปโมชั่น แบบให้ตัวละครในพื้นหลังขยับแบบสองจังหวะ ทำให้พื้นผิวเหมือนจับต้องได้จริง คนเรามีอิทธิพลต่อกันและกันมากจริง ๆ นะ เราต่างกำลังเจอเรื่องอะไรบางอย่าง และบางที เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างแค่การยิ้มให้กัน อาจช่วยให้วันของใครคนหนึ่งสดใสขึ้นได้ค่ะ”

สำหรับ ลิซ่า รีอา เข้าร่วม “วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์” ในปี 2017 ในฐานะเด็กฝึกงานฝ่าย Environmental Modeling ใน “Ralph Breaks the Internet” รวมทั้งมีส่วนช่วยใน “Frozen 2” , “Raya and the Last Dragon” และ “Encanto” เธอเริ่มต้นสายอาชีพนี้จากโลกของละครเวที ในฐานะนักออกแบบฉาก ก่อนเปลี่ยนเส้นทางสู่วงการแอนิเมชั่นในปี 2009 ด้วยความปารถนาอยากสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า และฉากที่มีความแฟนตาซีมากยิ่งขึ้น ก่อนมาร่วมงานกับดิสนี่ย์ เธอเคยทำงานร่วมกับ “DreamWorks Animation Television” และมีผลงาน อาทิ “Voltron,” “Puss in Boots,” และ “Spirit.” เป็นต้น

เรียกว่าเป็น 5 เรื่อง 5 สไตล์ ซึ่งดูแล้วได้ข้อคิด และได้มองโลกผ่านมุมมองต่าง ๆ ของตัวการ์ตูน ที่คอหนังสั้นแอนิเมชั่นไม่ควรพลาดทีเดียว