เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงท้ายการประชุม ครม. นายกฯ กำชับรัฐมตรีว่า การทำงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะต้องคิดในเชิงรุก

ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนในปี 2565 ได้สั่งการในที่ประชุมศบค.ไปแล้วให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาดำเนินการจัดหาวัคซีนในปี 2565 ตั้งแต่ตอนนี้ให้เรียบร้อย ซึ่งจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาจัดซื้อวัคซีน จะต้องคำนึงถึงวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ให้มีความชัดเจนจะได้ไม่เกิดความสับสนอลหม่าน แต่ยอมรับว่าการจัดหาวัคซีนในช่วงต้นเป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับผู้ผลิต แต่วันนี้ถือว่าเราทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร แต่ปีหน้าจะต้องทำให้ดี ส่วนเรื่องวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่เห็นชอบลงนามแลกเปลี่ยนกับภูฏานนั้น เป็นห่วงเรื่องบริหารจัดการ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวจะหมดอายุสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการฉีดวัคซีนก่อนหมดอายุได้แน่นอน 

นายกฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันในที่ประชุมศบค.เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ในสิ้นปี 2564 ได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญจะต้องกำชับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเรื่องของการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขส่งไป เพราะการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการ อย่าให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะเรื่องรายชื่อฉีดวัคซีนซำ้ซ้อน ตามที่ทุกท่านทราบในตอนนี้ ตรงนี้จะต้องมีการลงโทษ ปลดออกหรือให้ลาออก ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นขอให้เตือนเจ้าหน้าที่ในระดับล่างให้ดี ตนคงไปกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อพื้นที่เป็นคนดำเนินการเรื่องวัคซีนหากเกิดการรั่วไหล ในพื้นที่ก็จะต้องถูกลงโทษ

นายกฯ ยังกล่าวถึงส่วนมาตรการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ว่า เราต้องหาเหตุผลว่าในต่างประเทศทำไมเขาดีขึ้น โดยต้องไปดูว่าถ้าเราผ่อนคลาย กิจกรรมบางอย่างจะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าจะคิดแข็งแบบนี้ไปทั้งหมดและเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นจะต้องหาช่องทางให้สามารถดำเนินกิจการได้ เพราะเมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้น แรงกดดันก็จะต้องมาที่รัฐบาลสูง ส่วนเรื่องมาตรการเยียวยายอมรับว่าไม่สามารถที่จะเยียวยาให้ทุกคนพอใจได้ ที่ผ่านมาให้ไปเดือนละ 3,000 บาท หรือ 5,000 บาท ประชาชนคงอยู่ไม่ได้ ก็แค่ประทังชีวิตเท่านั้น ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ร่วมกันพิจารณา และรับฟังความคิดเห็นของแพทย์ในฐานะผู้เสนอมาตรการต่างๆ เพราะที่ผ่านมามีการต่อรองกัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทางแพทย์ก็ต้องประเมินสถานการณ์ 

“ 2 สัปดาห์จากนี้ไป ผมถือว่าเป็นจุดสำคัญ จะต้องประเมินให้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร และจะเอาอย่างไรกันต่อ ไม่ใช่ปิดไปเรื่อยๆ มันก็จะยิ่งถอยไปเรื่อยๆ อาจจะพิจารณามาตรการ เฉพาะสำหรับบุคคลที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วหรือไม่ ว่ามีกิจกรรมใดที่สามารถทำได้” นายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ขอให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวเราก็จำกัด นอกจากนี้ ขอให้ไปพิจารณา เรื่องการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นในเดือน ต.ค.-ธ.ค. จะสามารถเปิดการท่องเที่ยวในจังหวัดไหนได้บ้าง ซึ่งเบื้องต้นได้พูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แล้ว แต่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน หากควบคุมได้พื้นที่สีเขียวก็จะเพิ่มมากขึ้น.