เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล วิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. …. และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป

โดยการพิจารณา ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ได้มีการปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมีการปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้า การเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ และ การปรับลดรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 20 รายการ เช่น ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น ค้างคาวปีกขนเหนือ พญากระรอกบินหูขาว นกกระเต็นน้อยหลังแดง ตะพาบพม่า และ ปลาฉนากฟันเล็ก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำในปัจจุบัน

รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อภาษาไทย และชื่อวิทยาศาสตร์ ในลำดับชั้นสกุล หรือในลำดับชั้นชนิด ในบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯ มาแล้วระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค. โดยมีผู้มีส่วนได้เสีย ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบผลการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2562–2564 จำนวน 245 ฉบับ โดยให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบและแก้ไขความคืบหน้าร่างกฎหมาย พร้อมรายงานปัญหาอุปสรรคที่พบ รายงานต่อ รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อทราบต่อไป ตลอดจนเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2567 โดยขอให้แต่ละหน่วยงานจัดทำระยะเวลาการดำเนินงานของการพัฒนากฎหมายแต่ละฉบับให้ชัดเจน.