เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบระมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวรายงานว่า การจัดทำงบประมาณมีหลักการและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงรวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบฯ

โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม กระจายงบฯ อย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่าไม่ซ้ำซ้อนและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ รวมทั้งระเบียบ กฎหมายและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง

“ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาทุกคน ที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 นี้ และสำหรับข้อคิด ข้อเสนอแนะ และความห่วงใย รัฐบาลจะขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบฯ มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” นายอาคม กล่าว

จากนั้นนายวิสุทธิ์​ ศรีสุพรรณ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วุฒิสภา รายงานข้อสังเกตของการศึกษาต่อที่ประชุมว่าหลังสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยยังมีโอกาสและความท้าทาย เหมือนฟ้าหลังฝน อย่างไรก็ตามวุฒิสภามีข้อเสนอคือ การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีบางเกณฑ์ไม่สะท้อนถึงการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจัดสรรงบประมาณตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่เติบโตเศรษฐกิจมากจัดสรรให้มาก ทั้งที่ควรจัดสรรให้พื้นที่เติบโตเศรษฐกิจน้อยให้มาก

นอกจากนั้นรัฐบาลต้องทบทวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล และควบคุมการใช้งบประมาณ ทั้งนี้สถานการณ์โควิดเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ ในปี 2566 ที่ลดลง ดังนั้นรัฐบาลควรสั่งการหน่วยงานให้จัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญ ส่วนที่ไม่สำคัญให้ชะลอหรือเลื่อนออกไป และให้นำงบส่วนดังกล่าวจัดสรรสมทบที่งบกลาง เพื่อลดภาระของการกู้เงิน หากรัฐบาลต้องกู้เงินอีกในอนาคต

นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นงบลงทุนของปี 2565 ที่มี 6 แสนล้านบาท หรือ 20.1% ถือว่าอยู่ระดับต่ำ รัฐบาลต้องเร่งจัดลำดับความสำคัญโครงการที่สำคัญและเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน นอกจากนั้นต้องนำเงินอนาคตมาใช้ หมายถึงรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า ประปา การทางพิเศษ โดยการออกพันธบัตร (บอนด์) เพื่อลดภาระเงินกู้ ทั้งนี้การคาดการณ์รายได้ของรัฐวิสาหกิจจะต่ำลง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องอุดหนุน ปี 2565 มีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

“ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือการดูแลสมดุลฐานะการคลังและสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ โดยขอให้ใช้วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส พิจารณาความเหมาะสมว่าบางรัฐวิสาหกิจจะให้เอกชนทำต่อไปหรือไม่ และต้องเร่งรัดดูรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่องสภาพคล่อง” นายวิสุทธิ์ กล่าว.