ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ความชัดเจนว่าภายใน 120 วันหลังจากนี้ จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีภูเก็ตนำร่องเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 1 ก.ค.64 ตามแนวทางภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ก่อนจะขยายไปยังอีก 9 พื้นที่ต่อไป ได้แก่ พังงา, กระบี่, เกาะสมุย, พัทยา, เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, ชะอำ, หัวหิน และบุรีรัมย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เผยความพร้อมด้านคมนาคมเพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องครบถ้วนทุกด้านแล้ว ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทางน้ำ ได้แก่ กรมเจ้าท่า (จท.) ทางบก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และทางราง ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 ได้สั่งการทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการมีจิตใจบริการ (Service Mind) นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อให้เกิดความประทับใจแรกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ไล่เรียงความพร้อมของ ท่าอากาศยานภูเก็ต เรืออากาศตรีธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. ให้ข้อมูลว่า ได้จัดทำแผนซักซ้อมรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศแบบเสมือนจริงไว้แล้ว เนื่องจากสนามบินไม่ได้เปิดบริการเที่ยวบินจากต่างประเทศเต็มรูปแบบมา 1 ปีเต็ม กำหนดเริ่มซักซ้อมรับนักท่องเที่ยวเสมือนจริงมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. จะซ้อมต่อเนื่องไปถึงวันที่ 29 มิ.ย.

ตม.จะประทับตราพิเศษนักท่องเที่ยวต่างชาติในโครงการแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้สนามบินและสายการบินตรวจสอบพาสปอร์ตได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้โดยสารโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทุกคน ต้องโหลดแอพพลิเคชั่นของสนามบินภูเก็ต  หมอพร้อมเพื่อติดตามการเดินทางของผู้โดยสารได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเมืองไทย”

ด้านสนามนามบินสุวรรณภูมิ เร่งติดตั้งตู้เช็กอิน-โหลดกระเป๋าอัตโนมัติ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัททอท. เผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำลังเร่งติดตั้งระบบการให้บริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System: CUPPS) ประกอบด้วย ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง ระบบเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ เป็นระบบที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสให้กับผู้โดยสารดำเนินการได้เองทั้งหมด

ภายในเดือน ก.ค.64 จะติดตั้งได้ครบทั้ง 180 จุด ผู้โดยสารเช็กอินผ่านแอพพลิเคชั่นของAOT App ได้ก่อนออกจากบ้านด้วย เมื่อมาถึงสนามบินสามารถใช้บริการโหลดกระเป๋าผ่านระบบอัตโนมัติได้ด้วยตนเอง หากน้ำหนักกระเป๋าเกิน ใช้บัตรเครดิตชำระส่วนต่างค่าน้ำหนักกระเป๋าได้ทันที จากนั้นเดินเข้าสู่จุดตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Bio-metrix) ขึ้นเครื่องบินได้

ระบบจะอำนวยความสะดวกทำให้ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องเผื่อเวลา 2 ชม.ในการเดินทางมาที่สนามบินเพื่อรอให้สายการบินเปิดเคาน์เตอร์เช็กอิน 

ส่วนท่าอากาศยานต่างจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ระบุว่า การจัดสรรเวลาการบิน (สลอต) ของตารางบินฤดูหนาวซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.64-มี.ค.65มี เข้ามาแล้ว โดยเฉพาะท่าอากาศยานกระบี่ มียอดจองสลอต 64 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งเส้นทางในประเทศ และระหว่างประเทศ อาทิ สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สปริงแอร์ไลน์ และเสฉวนแอร์ไลน์ จากประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีขอสลอตมายังท่าอากาศยานหัวหินด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีสายการบินนอร์วิน จากประเทศรัสเซีย ขอสลอตเข้ามาเช่นกัน แต่เป็นในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาเตอร์ไฟลต์)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่าประมาณเดือน ก.ค.64 การบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร สนับสนุนนโยบาย ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ บอกว่า ในไตรมาสที่ 3 การบินไทยจะเริ่มทำการบินใน 5 เมือง ภายใต้โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ประกอบด้วย แฟรงก์เฟริต ประเทศเยอรมนี, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ, โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก, ซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางที่มีความแข็งแรง และทำกำไรให้กับการบินไทยมาตลอด โดยขณะนี้มีผู้โดยสารจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต เที่ยวบินแรกมียอดจองตั๋วชั้นประหยัด และชั้นธุรกิจประมาณ กว่า 100 ที่นั่ง ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีพอสมควร ส่วนภาพรวมเส้นทางที่ทำการบินเข้าภูเก็ตภายในเดือน ก.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 1 พันคน

ย้อนมองธุรกิจการบินในประเทศไทย ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปี 62 มีผู้โดยสารทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวม 165 ล้านคน มีเที่ยวบินประมาณ 1.43 ล้านเที่ยวบิน ขณะที่ปี 63 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้โดยสารรวม 84 ล้านคนต่อปี มีเที่ยวบิน 6.14 แสนเที่ยวบิน เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 5,500 คนเท่านั้น แบ่งเป็น ในประเทศ 3,500 คน และระหว่างประเทศ 2,000 คน ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว

ตั้งแต่เดือน ก.ค. นี้ สนามบินจะไม่เงียบร้างผู้คนอีกต่อไป ทุกคนหวังให้เป็นเช่นนั้น…

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมืองโดย
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…