ในขณะนี้เราประสบกับปัญหาโรคระบาดของเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค COVID-19 ส่วนใหญ่เชื้อสามารถแพร่กระจายในอากาศผ่านทางฝอยละอองขนาดใหญ่ในระยะ 1-2 เมตร
แต่ในบางกรณีเชื้ออาจจะสามารถแพร่กระจายในรูปฝอยละอองขนาดเล็กซึ่งจะไปไกลกว่า 2 เมตรได้ และอาจจะโดยการสัมผัสแล้วมาแคะจมูกหรือเช็ดตาเป็นไปได้แต่น้อย ข้อมูลจากผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปคือภายใน 14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการ บางรายมีอาการไอ มีไข้ บางรายโดยเฉพาะผู้สูงวัยมีไข้ และหายใจเร็ว หอบ จากปอดบวม มีน้อยรายที่มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล หรืออุจจาระร่วง
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย การเข้าไปในที่ชุมชนแออัดที่อาจจะมีผู้ป่วยปะปนอยู่ด้วย ผู้ที่เดินทางมาจากดินแดนที่มีการระบาดของโรค COVID-19
จากสถิติการเจ็บป่วยด้วย COVID-19 พบว่า ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ มักจะมีแนวโน้มของโรคไปทางด้านรุนแรง ผู้ที่มีโรคเบาหวานประจำตัวอยู่เกิดความกังวลใจ และมีคำถามมากมาย ซึ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ให้เกียรติตอบปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
คำถาม ผู้เป็นเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มากกว่าปกติหรือไม่
คำตอบ ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน แต่ว่าถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอ้วน เนื่องจากผู้เป็นเบาหวานจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนปกติและเชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
จากการศึกษาในจีนพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 เป็นเบาหวานร้อยละ 10.3 เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวจีนใน พ.ศ. 2556 มีความชุกของโรคเบาหวานร้อยละ 10.9 ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับการศึกษาในอิตาลี เมืองที่เป็นศูนย์กลางของการระบาด พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 มีอายุเฉลี่ย 65.3 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 8.9 เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวอิตาเลียนใน พ.ศ. 2561 ที่อายุ 55-75 ปี (อายุเฉลี่ย 65 ปี) มีความชุกของโรคเบาหวานร้อยละ 11.0 ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกัน
แต่มีข้อมูลจากการศึกษาหลายการศึกษาในจีนพบว่าผู้เป็นเบาหวานมีอาการที่รุนแรงจากตัวโรคหรือผลการรักษาที่แย่กว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานประมาณ 2.3 เท่า นอกจากนี้พบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้เป็นเบาหวานสูงถึงร้อยละ 7.3 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่พบเพียงร้อยละ 2.3
คำถาม การควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีมีความสำคัญต่อการติดโรค COVID-19 หรือไม่
คำตอบ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในผู้เป็นเบาหวานที่มีการติดเชื้อไม่วาจะเป็นการติดเชื้อชนิดใด การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าระดับน้ำตาลที่สูงจะเพิ่มการแบ่งตัวของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) และกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยผลของการศึกษานี้เข้าได้กับการศึกษาในผู้ป่วยไข้หวัดนก (avian flu) ที่พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต
ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการระบาดของ COVID-19 ผู้เป็นเบาหวานถ้าหากขาดยา หรืออยู่บ้านแต่ขาดการออกกำลังกาย หรือไม่ควบคุมอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแย่ลง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงได้
คำถาม ควรแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันการติดเชื้ออย่างไร
คำตอบ แนะนำให้ปฏิบัติตัวเหมือนผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ได้แก่
- การล้างมือหลังการจับหรือใช้ของสาธารณะร่วมกัน แนะนำใช้แอลกอฮอล์เจล หรือล้างด้วยสบู่นาน 20 วินาที
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า
- เวลาไอหรือจาม ควรนำต้นแขนหรือข้อพับแขนมาปิดบริเวณปากและจมูก ไม่ควรใช้มือปิด
- หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคไวรัสนี้ เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
- การหลีกเลี่ยงเข้าไปในที่ชุมนุมที่มีคนมาก และไม่นั่ง ยืนประชิดตัว (Social Distancing)
- การกินของร้อนและสุก ใช้ช้อนส้อมส่วนตัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นในจานเดียวกัน
นอกจากนี้คำแนะนำในการรักษาเบาหวาน ได้แก่
- พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี โดยทานหรือฉีดยารักษาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ
รับประทานอาหารสุขภาพที่ทุกคนในบ้านก็สามารถรับประทานได้ (ข้าวหรือธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียวต่าง ๆ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงของที่มีน้ำตาล แป้ง หรือไขมันสูง ของทอด) อาจจะทำเองหรือเลือกสั่งอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายที่ทำในบ้านได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยานกับที่ นาน ½-1 ชม. หรือการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ เช่น การเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา (squats), หน้าท้อง (sit-ups) หรือออกกำลังกายแบบยืดเส้น รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- เตรียมอาหารโดยเฉพาะประเภทน้ำตาลให้พอ สำหรับการแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำได้ทันท่วงที
-
ตรวจดูว่ายารักษาเบาหวานมีเพียงพอหรือไม่ หากต้องถูกกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ (Quarantine)
- ถ้ายาเบาหวานไม่เพียงพอ ควรมารับยาตามที่แพทย์นัด หรือให้ญาติมารับยาแทน ในผู้ที่ฉีดยาเบาหวานและมีเครื่องเจาะวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้ว ให้ญาตินำสมุดบันทึกน้ำตาลมาด้วย หรือติดต่อโรงพยาบาลซึ่งบางแห่งมีระบบจัดส่งยามาที่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
คำถาม ผู้ที่เป็นเบาหวานควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงไม่สบาย
คำตอบ ในช่วงที่ไม่สบาย ผู้ที่เป็นเบาหวานควรปฏิบัติดังนี้
- ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วบ่อยขึ้น เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากช่วงมีไข้ หรือไม่สบายมีโอกาสที่จะขาดน้ำได้
- ไม่ควรหยุดยาฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
- ถ้ารับประทานอาหารได้น้อย อาจพิจารณาหยุดยาเม็ดก่อนอาหารกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ ถ้ามีภาวะขาดน้ำ เช่น ดื่มน้ำได้น้อยมาก ท้องเสีย อาเจียน ให้ติดต่อและปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาหยุดยาบางตัวเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากตัวยา ได้แก่ ยาเมทฟอร์มิน ยากลุ่ม SGLT2 inhibitor และยาฉีดกลุ่ม GLP-1 receptor agonist นอกจากนี้อาจจะหยุดยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และยาลดความดันโลหิตกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI) หรือ angiotensin receptor blockers (ARB) และ กลับมาเริ่มยาตามปกติเมื่อกลับมารับประทานน้ำและอาหารได้ปกติ 1-2 วัน
- ถ้าหากมีอาการไข้สูง ไอ จาม หายใจลำบาก ไม่ได้กลิ่น หรือ การรับรสผิดปกติ ควรไปปรึกษาแพทย์ ถ้าเดินทางไม่สะดวกควรปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์
เอกสารอ่านเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ COVID-19 and diabetes 2020 [Available from: https://www.idf.org/about diabetes/what-is-diabetes/covid-19-and-diabetes.html.]
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
...................................................
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์