การก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2564 นอกจากการวางแผนชีวิตในด้านต่าง ๆ แล้ว หลายคนถือโอกาสนี้ในการแวะไหว้พระทำบุญ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว แต่ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือศาสนสถานหลายแห่ง ต่างก็มีทั้งมาตรการคุมเข้มตามขั้นตอนของรัฐบาลที่กำหนดเอาไว้ ในช่วงขึ้นปีใหม่ ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสไปแวะสักการะ ศาลหลักเมืองกรุงเทพ มหานคร ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ และขอพรต่อเทพารักษ์ ที่มีความเก่าแก่โบราณ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์
มาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด-19
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 บริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ก็ได้มีการวางมาตรการป้องกัน และจำกัดคนที่จะเข้ามาในพื้นที่เพื่อได้ขอพรในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ปลอดโรค ปลอดเชื้อ
นางปรียาลักษณ์ ฤทธิเดช ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าว 1/4 Special Report ว่า เนื่องจากตอนนี้มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ทำให้ทางหน่วยงานมีความเข้มงวดมากขึ้น ในการดูแลพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่จะมากราบไหว้สักการะที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ จะมีการงดลิเก และการบวงสรวง เพราะจะเป็นจุดเสี่ยงได้
สำหรับมาตรการป้องกัน จะเปิดประตูให้เข้า-ออกเพียงทางเดียวคือ ถนนหับเผย แต่ถ้ามีประชาชนเข้ามาจำนวนมาก จะทำการเปิดประตูฝั่งถนนสนามไชย ซึ่งภายในศาลหลักเมืองจะรองรับคนได้ไม่ให้เกิน 200 คน โดยเราพยายามกำชับเจ้าหน้าที่ว่า จะให้ประชาชนมาสักการะแต่ละจุดไม่เกิน 1 นาที ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาไหว้ทุกจุดคนละไม่เกิน 10 นาที ที่สำคัญในจุดทางเข้าจะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด ตรวจวัดอุณหภูมิ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมลงทะเบียนเข้าชม ที่สำคัญนักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องเว้นระยะห่างตามกฎอย่างเคร่งครัด มีพนักงานคอยดูแล และกำชับเรื่องความปลอดภัยเป็นระยะ พร้อมทั้งคอยทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ทุกสัปดาห์จะมีการทำความสะอาดทำการฆ่าเชื้อในอาณาบริเวณทุกจุด
“หลักชัย” ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ
ขณะที่
นายชาติชาย เครือทวน ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกพิธีกรรม ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า
หลักเมือง ตามความเชื่อของคนไทยเปรียบเสมือน
หลักชัย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 1 ได้ตั้งหลักเมืองขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน จนต่อมา สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ตั้งหลักเมือง หลักที่ 2 ขึ้น และด้วยความที่พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านโหราศาสตร์ จึงได้
สถาปนาหลักเมืองใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2395 โดยหลักเมืองที่ 2 ถ้ามาดูในปัจจุบันจะต่ำกว่าเสาหลักเมืองเสาแรก ทั้งที่จริงเสาที่ 2 จะสูงกว่า แต่ปักลงไปในพื้นดิน ส่วนเสาที่ 1 ได้ถอนขึ้นมาจากดินและตั้งเคียงกันไว้ดังเช่นปัจจุบัน
“
ประชาชนที่มาไหว้ศาลหลักเมืองช่วงปีใหม่ ส่วนใหญ่เมื่อมาแล้วเกิดความสำเร็จ โดยเฉพาะการมาในเวลาเที่ยงคืน วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยจะเป็นวันที่ศาลหลักเมืองเปิดให้กราบไหว้ตลอดทั้งคืนเป็นการเฉพาะ ซึ่งปีนี้นอก จากการตรวจคัดกรองป้องกันโควิดที่เข้มงวดแล้ว จะมีการจำกัดจำนวนคนที่เข้าไปไหว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย”
นายชาติชาย กล่าวต่อว่า เคล็ดลับการมาไหว้ศาลหลักเมือง หลังจากซื้อเครื่องบูชาที่ทางศาลหลักเมืองมีจำหน่ายแล้ว จะต้องไปที่
จุดแรก คือ
หอพระ ที่ด้านในนอกจากจะมากราบไหว้พระเป็นอันดับแรกแล้ว ตามความเชื่อหากใครเกิดวันไหนด้านในจะมีพระประจำวัดเกิดประดิษฐานอยู่ภายใน ขณะเดียวกันตรงจุดนี้ยังมีให้ใส่บาตรพระประจำวันเกิดอีกด้วย ตามประวัติที่เดิมเมื่อแรกสร้างศาลหลักเมืองยังไม่มีหอพระ แต่พอมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2525 จึงสร้างหอพระขึ้น เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ประชาชนได้กราบไหว้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะแต่ก่อนทุกอย่างจะไปรวมกันในพื้นที่ตั้งศาลหลักเมืองทั้งหมด จึงทำให้พื้นที่ภายในคับแคบ เลยมีการสร้างหอพระขยายออกมา
จุดที่สอง คือ
ศาลาจำลอง โดยคนที่มาไหว้จะมาตั้งจิตอธิษฐานยังจุดนี้ และนำดอกไม้ไปวางสักการะ พร้อมทั้งปิดทองเสาหลักเมืองจำลอง โดยจุดนี้จะไม่ให้จุดธูป ในการผูกผ้าแพร 3 สี กับเสาหลักเมืองหลายคนมีความเชื่อว่า ถ้าผูกตรงฐานล่างสุดจะเกิดความมั่นคง แต่ถ้าผูกบริเวณจุดยอดสุดจะหมายถึงความสูงส่ง ซึ่งการผูกผ้าก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล
กราบขอพรเทพารักษ์ทั้ง 5
ในส่วนของ
จุดที่สาม จะเป็น
อาคารเสาหลักเมือง โดยเสาหลักเมืองเสาแรก เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม ตั้งบนพื้นที่ชัยภูมิใจกลางพระนครที่พระราชทานนามว่า “
กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “
กรุงเทพมหานคร” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา
เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่
สำหรับอีกจุดที่ไม่ควรพลาดมาขอพรคือ
ศาลเทพารักษ์ ที่เดิมแต่ละองค์จะประดิษฐานอยู่รอบกรุงเทพฯ เช่น ที่คลองโอ่งอ่าง หรือบางลำพู พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเจริญขึ้น จึงมีการรวบรวมมาไว้ที่เดียวกันในพื้นที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ โดยเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่
1.พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบก ทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากศัตรูมารุกราน
2.พระทรงเมือง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเปรียบได้กับฝ่ายปกครอง ซึ่งต้องเปี่ยมด้วยพระคุณ ความเมตตา ละมุนละม่อมเป็นแนวทางปฏิบัติ อันมีความหมายไปในทางคุณธรรม
3.พระกาฬไชยศรี แทนปัญญาอันแหลมคม สำหรับพิจารณาตัดสินปัญหาตลอดจนแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้อง พระหัตถ์ซ้ายบนถือเชือกบาศ สำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต
4.เจ้าเจตคุปต์ มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป ตำนานมีว่า เจ้าเจตคุปต์เป็นบริวารพระยม และมีหน้าที่อ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม
5.เจ้าหอกลอง เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น คอยรักษาเวลา ย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดเหตุอัคคีภัย หรือมีอริราชศัตรูยกมาประชิดพระนคร
ช่วงวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2564 การได้มีโอกาสมาทำบุญขอพรที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร หรือศาลหลักเมืองในแต่ละจังหวัดของตัวเอง ถือเป็นมงคลรับปีใหม่ และเป็นกำลังใจสำคัญในการก้าวสู่อนาคตอย่างเข้มแข็งทั้งกำลังกายและกำลังใจ ในช่วงต้นปี 2564 ทีมข่าว 1/4 Special Report ก็ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดดลบันดาล อวยพรให้ผู้อ่านและประชาชนทุกท่าน ประสบแต่ความสุขและความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สัม ฤทธิผลทุกประการ.