แหม...ไม่อยากจะเชื่อ!! เผลอแพล็บเดียว เชื่อมั้ย!! ทุกวันนี้ จำนวนผู้สูงอายุในไทย ปาเข้าไปแล้ว 11.13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.73% ของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ 66.55 ล้านคน
แถมแนวโน้มจำนวนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไปจนถึงปี 76 ที่สยามเมืองยิ้มของเราจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี มากถึง 28% ทีเดียว
แล้วถามว่า!! ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร? เพราะทุกวันนี้กระแสข่าวคราวของผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการดูแลจากลูกหลาน ต้องหาเช้ากินค่ำด้วยตัวเอง มีให้เห็นอย่างดาษดื่น
สารพัดสารเพ...วงเวียนชีวิตของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่บางคนก็ต้องไปนั่ง ตกปลา เพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือบางคู่...ตายาย ที่นอนติดเตียงแล้วคู่ชีวิต ต้องเก็บขยะไปขาย เพื่อประทังชีวิต หรืออีกหลายเคส หลายกรณี
เมื่อเกิดเป็นกระแสข่าว น้ำใจของคนไทยหลั่งไหลส่งเงินไปช่วย เพราะหวังว่าผู้เฒ่าผู้แก่จะมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้างจากน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของประชาชนคนไทย เพราะเพียงลำพัง...แค่เบี้ยยังชีพของผู้สูอายุเดือนละ 600 บาท 700 บาท 800 บาท 1,000 บาท แล้วแต่อายุ คงดำรงชีพอยู่ได้อย่างยากลำบาก
แต่ความโชคร้ายก็ซ้ำเติมมานับไม่ถ้วน บางครอบครัว กลับถูกลูกถูกหลาน มา “ปล้น” เงินบริจาค แบบหน้าด้าน ๆ ในหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่จะคิดได้
ที่ยกเคส...ยกตัวอย่าง...ของ “ผู้สูงวัย” ในครั้งนี้ ก็ไม่ใช่อื่นใดอะไร? เพราะรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะผู้สูงอายุเหล่านี้มีเงินออมไม่เพียงพอ เมื่อเกษียณอายุ หรือไม่มีงานทำ ก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณ
อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่นั่นแหล่ะ ว่า เงินออมเพื่อการดำรงชีพหลังเกษียณอายุการทำงานไปแล้ว ต้องมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4.3 ล้านบาท สำหรับคนที่อยู่ในสังคมเมือง
ถ้าอยู่ในชนบท อยู่ตามต่างจังหวัด ที่ค่าใช้จ่ายอาจไม่สูงลิ่วเท่าสังคมเมือง ก็ยังคงต้องมีเงินออมเช่นกัน อย่างน้อยก็ประมาณ 2.8 ล้านบาท จึงเพียงพอต่อการใช้ชีวิต
แต่เชื่อมั้ย!! ณ เวลานี้ ครัวเรือนที่มีเงินออมเกิน 2.8 ล้านบาทน่ะ มีเพียงแค่ 1.2 แสนครัวเรือน หากคิดคำนวณบวกลบคูณหารกับจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ก็คิดเป็น 0.5% เท่านั้น
ที่แย่ยิ่งกว่านั้น...และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสดับตรับฟัง และต้องคิดให้จงหนัก ก็คือ...ระบบ “บำนาญ” ของไทยถือว่าต่ำที่สุดในโลก หากดูในเรื่องของความเพียงพอของเงินออม
“สภาพัฒน์” ระบุว่า รายได้ที่เหมาะสมหลังเกษียณ ต้องมีรายได้ประมาณ 50-60% ของเงินเดือน ๆ สุดท้าย แต่คนที่จะมีรายได้เช่นนั้น... ส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการที่มีระบบบำนาญ และมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คอยดูแล เท่านั้น
ส่วนคนทั่วไป กลับพบว่าการจะมีรายได้เหมือนกับที่สภาพัฒน์ ให้ข้อมูลนั้น มีอยู่น้อยมาก โดยแรงงาน 37.9 ล้านคน ยังพอมีรายได้จากระบบบำนาญมารองรับ
แต่อีก 14.5 ล้านคน ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยไม่มีอะไรมารองรับเลย มีเพียงเบี้ยยังชีพคนชราล้วน ๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิต หากไม่ทำอะไรกันเลย ภาระในการดูแลผู้สูงอายุของไทยย่อมต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน
เพราะแต่ละเดือนในเวลานี้รัฐบาลก็ต้องจัดงบประมาณเพื่อดูแลทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท อยู่แล้ว
จากตัวเลขที่เป็นทางการ รัฐบาลต้องจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุปีละประมาณ 9 แสนคน นั่นหมายความว่า...ถ้าแต่ละคนยังมีเงินออมที่ไม่เพียงพอในช่วงหลังเกษียณ ภาระงบประมาณก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
ปัญหาเรื่องของการ “ออมเงิน” ในบ้านเรา ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ แถมยังมีอีกมากมายหลายสาเหตุ ว่าทำไมแต่ละคนจึงมี “เงินออม” ไม่เพียงพอ
หนึ่งในสาเหตุก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการ “เหลื่อมล้ำ” ที่ช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกินระหว่างคนจนกับคนรวย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า... คือ เวลานี้คนไทยจำนวนมาก ที่...
“ไม่มีเงินจะออม” หรืออย่างน้อย ก็คนที่กำลังตกงานอยู่กว่า 6.5 แสนคน นั่นแหละ...
..........................................
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”