ซึ่งนี่ก็ยิ่งสร้างปัญหาและมีแนวโน้มที่จะเกิดกรณี “คนไทยถูกต้มตุ๋นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” ซึ่งก็จำเป็นที่ “คนไทยต้องรู้เท่าทัน” เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพเหล่านี้ ควรจะใส่ใจกับ “คำแนะนำ” เรื่องนี้ กับ “วิธีสังเกต” ว่า…

“แอพพลิเคชั่นกู้เงิน” นั้น “จริง??” หรือ “ลวง??”

ที่กรณีนี้ก็มี “หลักวิธีพิจารณา” ที่จะ “ใช้คัดกรอง”

“เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อ-ตกหลุมพรางกับดักดิจิทัล”

ทั้งนี้ คำแนะนำเพื่อป้องกันเป็นเหยื่อ “ขบวนการเงินกู้นอกระบบ-เงินกู้เก๊” นั้น เรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลแนวทางโดย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้คำแนะนำไว้ว่า… การกู้เงินในยุคปัจจุบันทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่ สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้เงินก็คือ…จะรู้ได้อย่างไร ใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด?? หรือ…ไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงิน?? โดย “แนวทางป้องกัน” มิให้ตกหลุมพรางนั้น กับกรณีนี้ทางแหล่งข้อมูลดังกล่าวนั้นได้ให้คำแนะนำไว้ดังต่อไปนี้…

เริ่มจาก’แยกแยะผู้ให้เงินกู้“ ว่า…ใครคือผู้ให้กู้ในระบบผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ โดยมีการยกตัวอย่างว่า… แอพพลิเคชั่น A “ให้เงินกู้เต็มจำนวน ดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด” แอพพลิเคชั่น B “ได้เงินไม่เต็มจำนวน แต่จ่ายคืนเต็มจำนวน ดอกเบี้ย-ค่าปรับสูง ระยะเวลาชำระสั้น” และ แอพพลิเคชั่น C “ให้โอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายก่อนจึงจะได้เงินกู้”

นอกจากนั้นยังมีการแจกแจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ “แยกแยะผู้ให้เงินกู้” ที่ให้บริการผ่านทางแอพพลิเคชั่นเอาไว้อีกว่า… ทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว เป็น “รูปแบบที่พบได้บ่อย” ของแอพพลิเคชั่น บริการให้เงินกู้ ซึ่งมักจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ก็จะพบความแตกต่างกัน โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น B และ C กล่าวคือ…แอพพลิเคชั่น B หรือ “แอพพลิเคชั่นผู้ให้กู้นอกระบบ” มักมีรูปแบบคือ… ให้เงินไม่เต็มจำนวน ผู้ที่จะกู้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน และเมื่อคืนเงินกู้นั้น ผู้กู้จะต้องจ่ายเต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ย หรือมีอัตราค่าปรับที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง ถ้าจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ หรือ…

ทวงกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในโทรศัพท์ผู้กู้

โดย “ขบวนการพวกนี้จะเน้นทำให้อับอาย”

ส่วนแอพพลิเคชั่น C หรือ “แอพเงินกู้ปลอม” นั้น มักจะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือการส่ง SMS หรือแม้แต่โทรฯ หาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอพ หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารคล้ายกับการขอกู้ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินให้กู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ และหากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ไม่สามารถติดต่อได้อีก …เหล่านี้เป็นรูปแบบของ “แอพตกเหยื่อกู้เงิน”

แนวทางต่อมาที่มีการแนะนำไว้ คือ… “ไม่แน่ใจอย่าเพิ่งคลิก” โดยถ้าลองแยกแยะแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง เช่น ตรวจสอบรายชื่อแอพและชื่อผู้ให้บริการ ด้วยการนำข้อมูลชื่อแอพและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง จากนั้นอาจติดต่อสอบถามตามที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ได้มาว่า…เป็นแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการรายนั้นจริง ๆ หรือไม่??

ถัดมาที่ควรใส่ใจคือ… เลือกดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ปลอดภัย” รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นที่มีความน่าเชื่อถือ และ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีการ jailbreak ในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อป้องกันภัยจากมัลแวร์

และคำแนะนำอีกส่วนสำคัญคือ… “อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนที่จะกู้” ไม่ควรรีบร้อนกู้จนหลงลืมการดูรายละเอียดที่จำเป็นต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน และที่ก็สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระด้วย โดยควรกู้เท่าที่จำเป็น ควรคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนต่อเดือน…รวมแล้วไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่ให้เกินความสามารถในการจ่ายคืนได้ …เหล่านี้เป็นคำแนะนำจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… การปราบปรามและควบคุมดูแลเงินกู้นอกระบบและมิจฉาชีพเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อปิดช่องโหว่และเพื่อป้องกันภัยการเงิน โดยอีกหนึ่งแนวทางที่ก็ถือเป็น “การป้องกันที่ดีที่สุด” คือ “ต้องติดตามข่าวสารการเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้เท่าทัน” และที่สำคัญ ต้องไตร่ตรองด้วยเหตุผล ซึ่งในกรณีที่ไม่แน่ใจก็ควรสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องก่อน …นี่เป็น “หลักวิธี-แนวทาง” ซึ่งแนะนำไว้จากทาง ธปท. เพื่อจะช่วยให้ใช้บริการ “แอพพลิเคชั่นกู้เงิน” ได้อย่างปลอดภัย

ยุคนี้-ตอนนี้…คนไทยจำนวนมากจำเป็นต้อง “กู้เงิน”

และยุคนี้ก็มี “มิจฉาชีพวางหลุมพรางในสื่อไฮเทค”

จะ “กู้เงินผ่านระบบออนไลน์” ก็ “ต้องระวังให้ดี”

มิฉะนั้น…“อาจตกเป็นเหยื่อติดกับดักดิจิทัล!!”.