“อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกมาประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลในช่วงปี 66-70 โดยยึดหลักการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำลังเป็นที่วิพากวิจารย์กันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะเป็นเรื่องในอนาคตก็ตาม

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ปี 55 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งตอนนั้นถือว่าปรับขึ้นมาเยอะมาก เพราะจากข้อมูลปี 54 ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่วันละ 215 บาท สูงสุดอยู่ที่จ.ภูเก็ตวันละ 221 บาท และต่ำสุด จ.พะเยา 159 บาท

ดังนั้นเมื่อปรับขึ้นมาเป็น 300 บาท ในช่วงแรกๆธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบกันมากพอสมควร อาจจะมีประเภทที่ว่าล้มหายตายจากไปบ้าง หรือค่อยๆ ปรับตัวได้ในเวลาต่อมา

จากปี 55 จนถึงปี 65 ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปี ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท ถือว่าปรับขึ้นมาน้อยมาก เรียกว่ารายได้ปรับไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะช่วงกลางปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อพุ่งสูง 6-7% ไหนจะมีปัญหาโควิด-19 ระบาด รวมทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเศรษฐกิจจึงไม่ดี พลังงานแพง ค่าครองชีพต่างๆจึงแพงตามไปด้วย แต่รายได้กลับไม่เพิ่มตามภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นอำนาจการซื้อของ 354 บาท จึงไม่มีเลย หรือถ้าต่ำกว่า 354 บาท เพราะไม่ได้ปรับค่าแรง แต่ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น ตรงนี้ถือว่ารายได้ลดลง

“คนจน ลูกจ้างรายวัน และคนหาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากรายจ่ายของคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอาหารการกิน ในขณะที่วัตถุดิบต่างๆในการทำอาหารและราคาพลังงานแพงขึ้น ของกินจึงแพงขึ้นไปด้วย ดังนั้นรายได้วันละ 328-354 บาท จึงไม่พออย่างแน่นอน เพราะรายได้ไม่ได้ปรับให้ชดเชยกับเงินเฟ้อ ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400-425 บาท ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยหาเสียงไว้แต่ยังทำไม่ได้ ตรงนี้จึงกลายเป็นปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนตามมา”

รศ.ดร.กิริยากล่าวถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 70 ถ้า“จีดีพี”โตเฉลี่ยปีละ 5% ว่าตรงนี้ตนมี 3 ประเด็นคำถามคือ

1.การทำให้ “จีดีพี” โตปีละ 5% ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ รัฐบาลจะทำอย่างไรบ้างเพื่อไปสู่จุดนั้น เพราะโดยพื้นฐานจะวนเวียนอยู่แค่ 3-4% เราต้องมองย้อนอดีตไปกี่ปีที่เคยเห็น “จีดีพี” โต 5%

โดยช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง (2540) ประเทศไทยโตไวเพราะเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีค่าจ้างถูก ต่อมาปี 53 โตแรง!เพราะฟื้นจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และปี 55 ก็โตแรง!เพราะฟื้นจากน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 54

ดังนั้นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลหน้าคือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดี เราจะเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตสินค้าราคาถูกอยู่หรือเปล่า? หรือจะไปในแนว “ซอฟต์พาวเวอร์” เหมือนประเทศเกาหลีใต้ เพราะในเมื่อเรายังไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง ก็อาจจะเน้นไปในเรื่องของภาคการเกษตร-เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสุขภาพ เราต้องพัฒนาจุดขายในเรื่องพวกนี้ ทำอย่างไรจะพัฒนาหรือแปรรูปกระเทียมให้ขายได้กิโลกรัมละ 1,000 บาท ในลักษณะนี้เป็นต้น

2.ถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบัน 328-354 บาท แล้วช่วงปี 66-70 จะปรับเป็น 600 บาท คือโดยเฉลี่ยปรับขึ้นปีละ 50 บาท ตรงนี้ถือว่าหนักสำหรับผู้ประกอบการ หรือนายจ้างบางกลุ่ม พวกเอสเอ็มอีรายเล็ก รายน้อยเดือดร้อนอย่างแน่นอน ถ้าจะปรับค่าแรงขึ้นเฉลี่ยปีละ 50 บาท

แต่ถ้าเศรษฐกิจดี “จีดีพี” โต 5% การปรับขึ้นค่าจ้างปีละ 50 บาท อาจจะไม่มีปัญหาอะไร ยกตัวอย่างในปัจจุบัน“จีดีพี” ไม่ถึง 5% แต่ช่างไฟฟ้า ช่างสี ได้ค่าแรงมากกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว หรือปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว ในบางจังหวัด เช่น ภูเก็ตอาจขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นค่าแรงวันละ 600 บาท คงไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว

3.เมื่อพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำ เรากำลังพูดถึงคนกลุ่มน้อยในประเทศไทยอยู่หรือเปล่า? ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าลูกจ้างที่ยังกินค่าแรงขั้นต่ำมีกี่ล้านคนกันแน่ มีแรงงานไร้ทักษะจำนวนเท่าไหร่ แรงงานในภาคการเกษตรจำนวนเท่าไหร่ และแรงงานต่างด้าวเท่าไหร่แน่? เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆจะไม่มีปัญหา แต่คนที่ลำบากคือพวกเอสเอ็มอี

อย่าให้มีข้อครหาว่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วแรงงานต่างด้าวได้รับประโยชน์มากกว่าแรงงานไทย เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำมีไว้อ้างอิง เพื่อไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ

แต่ถ้าภาครัฐมีข้อมูลตัวเลขชัดเจนว่ากี่ล้านคน ต่อไปพรรคการเมืองอาจจะไม่ต้องแข่งขันกันทำนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำแบบนี้ โดยปล่อยให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ หรือต่อไปอาจไม่เรียกว่าค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่เป็นรายได้ (ค่าจ้าง) ที่เหมาะสมสำหรับคนๆ หนึ่งที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นสิงคโปร์ไม่ได้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเอาไว้ แต่มีรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน

“ส่วนเรื่องของเงินเดือนคนจบปริญญาตรี ซึ่งจะเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ในช่วงปี 66-70 นั้นไม่มีผลอะไร เนื่องจากอาจปรับเงินเดือนในระบบราชการให้เป็น 25,000 บาทก่อน ส่วนใครที่รับราชการมาแล้วหลายปี แต่เงินเดือนยังไม่ถึง 25,000 บาท ก็ต้องปรับให้คนเหล่านี้ด้วย จึงอาจจะกระทบต่อฐานะทางการเงิน การคลังของประเทศหรือไม่? สำหรับบริษัทเอกชนอาจจะมีปรับขึ้นบ้าง ไม่ปรับขึ้นบ้าง ถ้าเขากลัวเงินเดือน 25,000 บาท ต่อไปอาจจะรับพนักงานแค่วุฒิอนุปริญญา-ปวส.” รศ.ดร.กิริยา กล่าว