วันนี้(25ก.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ.2561 ในหัวข้อ "อ่าน เขียน พูดไทย อย่างถูกใจและถูกต้อง" โดยศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ภาคีสมาชิกประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยแก้ว สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ทุกภาษาในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ เราไม่สามารถหยุดโลกได้ แต่เราสามารถรักษารากเหง้าเดิมของภาษาไว้ได้ โดยการใส่ใจเรียนรู้ว่าหลักเกณฑ์การใช้ภาษาอย่างถูกต้องคืออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการใช้ภาษาผิดๆ โดยเฉพาะในสื่อต่างๆ มีให้เห็นเยอะมาก เมื่อเห็นบ่อยๆจึงอาจทำให้เกิดความคุ้นเคยและใช้แบบผิดๆตามกันไป โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
นายมนตรี เจนอักษร ตัวแทนนักแสดง กล่าวว่า อาชีพของตนมีความจำเป็นกับการใช้ภาษาอย่างมาก จึงให้ความสำคัญถึงกับพกพจนานุกรมติดรถไว้ตลอดเวลา ทั้งนี้ตนมองเรื่องของกาลเทศะมีความสำคัญ ถ้ารู้กาลเทศะในการใช้ภาษาว่าจะใช้อย่างเป็นทางการเมื่อใด จะใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียนตอนไหน ไม่ว่าจะอยู่อาชีพใดก็สามารถใช้ภาษาอย่างถูกต้องได้ แม้แต่ภาษาถิ่นที่ยุคสมัยหนึ่งไม่ค่อยกล้าพูด แต่ปัจจุบันจะกล้าพูดภาษาถิ่นกันมากขึ้น แม้จะมีความแตกต่างแต่เราก็เข้าใจกัน นั่นคือความน่ารักของภาษาซึ่งเป็นรากเหง้าที่เราควรภาคภูมิใจ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องยอมรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้เรื่อง ซึ่งตนเคยพูดคำว่า กระเง้ากระงอด ปรากฏว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว ทำให้รู้สึกประหลาดใจและอดคิดไม่ได้ว่าคำศัพท์ที่บรรพบุรุษของเราคิดสร้างมาบางคำอาจหายไปได้ ไม่รู้จะกลับมาหรือไม่ และในทางกลับกันเด็กก็มีภาษาของเขาที่เราอาจไม่เข้าใจเช่นกัน
" เชื่อว่าหลายคนคงเคยประดิษฐ์คำใหม่ๆ ที่เข้าใจเฉพาะในกลุ่ม พูดแล้วทำให้รู้สึกโก้ น่าสนใจ พูดแล้วรู้สึกเป็นสุข แต่ในละครบางครั้งก็ยอมรับว่ามีการยัดเยียดคำหยาบเพราะคิดว่าจะทำให้ละครดูมันขึ้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ และนักแสดงก็จะรู้ว่ากำลังถูกยัดเยียดอยู่ " นายมนตรี กล่าว
อาจารย์ดังกมล ณ ป้อมเพชร ตัวแทนนักวิชาการ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงแสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตของภาษา ซึ่งปัจจุบันเรายังเล่นและสนุกกับการใช้ภาษาไทยอยู่ แต่ก็ไม่ควรสนุกมากจนเลอะเทอะ เห็นได้จากเด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาผิดกันมาก เพราะคุ้นเคยกับการใช้แบบผิดๆที่มีอยู่มากมายรอบตัว เราจึงต้องคำนึงถึงกาลเทศะในการใช้ภาษาเป็นสำคัญ ผู้ใช้ภาษาต้องมีสำนึกรู้ว่าตัวเองเป็นใคร กำลังใช้ภาษากับใคร ใช้ในโอกาสไหน ต้องคิดเผื่อผู้รับสารด้วย ในขณะเดียวกันผู้รับสารก็ต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า ผู้ส่งสารเป็นใคร ทำไมถึงใช้ภาษาแบบนั้น จะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดหวังและให้อภัยกันได้
อาจารย์ตรีดาว อภัยวงศ์ ตัวแทนกลุ่มอาชีพพิธีกร กล่าวว่า รูปแบบการสื่อสารทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก เราพูดกันน้อยลง แต่สื่อสารผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะการแชท คือการเม้าท์ จึงใช้แต่ภาษาปากจนชิน และใช้บ่อยจนนึกไม่ออกแล้วว่าจะใช้ภาษาที่เป็นทางการอย่างไร แม้แต่ตนเองเคยคิดว่าแน่ แต่ปัจจุบันยังสะกดคำผิดบ่อยมาก ทั้งที่อยากใช้ให้ถูกแต่หลายครั้งกลับรู้สึกว่าใช้ไม่ถูกจริงๆ ยิ่งได้เห็นสื่อใช้ภาษาที่ผิดบ่อยๆ จนทำให้รู้สึกลังเลไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ถูกต้องคือแบบไหนกันแน่ ภาษาไทยคงเริ่มวิบัติจริงๆ
" ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อีกอย่างคือ ความรู้สึกของภาษา ที่เด็กรุ่นใหม่ เจนฯวายจะใช้คำสมัยพ่อขุนรามคำแหงเยอะมาก ทำให้คนรุ่นเจนฯ เอ็กซ์ รู้สึกตกใจมากว่าทำไมพูดกันรุนแรงเหลือเกิน เพราะสมัยก่อนผู้ชายจะไม่พูดกูมึงกับผู้หญิงอย่างเด็ดขาด แต่ปัจจุบันกลับใช้กันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว " อ.ตรีดาว กล่าว
ด้านนายสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ตัวแทนนักเขียน กล่าวว่า การใช้ภาษามี 2 มิติ คือ ถูกต้อง ซึ่งเป็นการใช้ตามมาตรฐานที่มี ส่วน ถูกใจ เป็นการใช้ภาษาในมิติของสุนทรียะ ซึ่งในการเขียนบทละคร ต้องเข้าใจว่าจะให้ใช้ภาษาทางการไม่ได้ เพราะเป็นบทพูดของตัวละคร จึงต้องใช้ภาษาปาก หากยังใช้สื่อสารกันได้ก็ไม่ถือว่าเสียหาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าละครส่วนใหญ่จะชอบดึงดูดผู้ชมด้วยวิธีง่ายๆคือ เรื่องของเพศ และความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงทางภาษา
" หากเปิดละครโทรทัศน์ทิ้งไว้ แค่ตัวละครพูดจาหยาบๆแรงๆ ก็ทำให้คนหันมามองได้แล้ว ละครส่วนใหญ่จึงชอบทำแบบนี้ ทั้งที่ยังมีวิธีอื่นอีกมากมายในการดึงดูดความสนใจ" นายสรรัตน์ กล่าว