วันนี้ (19 มีนาคม 2561) ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ASEAN Next 2018 : Rising STI Networking for Innovative ASEAN ” โดยมีสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมงานฯ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) ทั้งในระดับอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้าน วทน. และเป็นเวทีหารือเพื่อแสดงแนวความคิดเชิงนโยบายและรูปแบบของผลงานด้าน วทน. ที่จะสนับสนุนวาระเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
รศ.นพ.สรนิต กล่าวว่า ASEAN Next 2018 เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ต่อยอดจากปี 2560 โดยมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้าน วทน. ในรายสาขาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จะเป็น Theme ของระบบเครือข่าย (networking) และนวัตกรรมสร้างสรรค์ (innovative) ซึ่งไทยได้เชิญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

ทั้งนี้งาน ASEAN Next 2018 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-23 มีนาคม 2561 มีการจัดสัมมนาทั้งหมด 18 เรื่อง เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและคลังข้อมูลน้ำของอาเซียน โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) การสัมมนาการสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยในอาเซียน และการประชุมครั้งที่ 2 ของเครือข่ายงานวิจัยในอาเซียนด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) การพัฒนาเครื่องมือที่ตรวจวัด ตรวจจับพลังงานรังสี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และเรื่อง Functional food เป็นการหาวัตถุดิบมาทำเป็นอาหาร สร้างสุขภาพประชาคมอาเซียน โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่ง สาธารณรัฐเกาหลี ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศในอาเซียนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่น่าสนใจ เช่น Analysis of Phthalates in Food Contact Material and Food ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการทดสอบความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารให้กับห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและป้องกันสินค้าที่เป็นอันตราย ไม่ได้มาตรฐาน
และ Workshop: SMART Informatics for Sustainability มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันสร้างศักยภาพของบุคลากรในการใช้ Hydroinformatics เพื่อบริหารจัดการน้ำและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
กิจกรรม ยานยนต์แห่งอนาคต (next generation vehicle) และการพานักวิจัยพันธมิตรสำรวจพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่มในจังหวัดเชียงใหม่พร้อมชมสถานีวัดอากาศเพื่อใช้เตือนภัยดินถล่ม ให้ประชาชนในบริเวณเสี่ยงภัยสามารถเตรียมตัวและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกิจกรรม การปรับนิยาม SI Units องค์การมาตรวิทยานานาชาติที่ฝรั่งเศส มีการปรับการกำหนดค่ามวล (กิโลกรัม) ใหม่ อิงค่าคงที่ทางฟิสิกส์ (Planck Constant) ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะทำให้สถาบันมาตรวิทยาในอาเซียนยอมรับและตระหนักถึง การปรับนิยาม SI Units ใหม่ ผลกระทบต่อสถาบันมาตรวิทยาและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ในประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียนต่อไป
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ที่จะนำต่อยอดไปสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่อไป หลังจากนั้นจะมีแผนปฏิบัติการต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประธาน ASEAN นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้าน วทน. ร่วมกันในอนาคต พัฒนาบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียนและยกระดับขีดความสามารถของอาเซียนให้ ก้าวไกลต่อไป