เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีการเสวนา เรื่อง “ทางออกของประชาชน/พรรคการเมือง ประเทศไทย” ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน (ตรงข้ามวชิรพยาบาล) ร่วมอภิปรายโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ.ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย สภาที่ 3 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

นายอดุลย์ กล่าวว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงต้องเสียสละต้องลงจากตำแหน่งไม่ว่าจะยอมหรือไม่ ถ้ามีสามัญสำนึกของการเป็นผู้นำรัฐบาล หรือเคยเป็นผู้นำทางทหารมาก่อน เพราะขณะนี้ภายใต้การบริหารของท่าน สร้างปัญหาทุกด้าน เสียหายทั้งนั้นเห็นได้ว่าใกล้จะสุดเยียวยาแล้ว ถ้าช้ากว่านี้ภายใต้วิกฤตแบบนี้และเศรษฐกิจแบบนี้ นอกจากนี้ในเรื่องของรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะนี้เห็นแล้วว่านำพาซึ่งหายนะ และกำลังถึงทางตัน สิ่งต่างๆ วินาศสันตะโร ทำให้เกิดการตายขึ้นมาจำนวนมากกว่าปี 2534 หรือ 2535 เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาด จากโรคโควิด จนบัดนี้ก็ยังมีการตายอยู่

นายอดุลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องรีบแก้ไข คือ ความแตกแยกของบ้านเมือง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์แอบอ้างสถาบัน ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ลามไปถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศ ก่อนหน้านี้ตนเคยเข้าใจผิดว่าปัญหาอาจเกิดจากช่องว่างระหว่างวัย แต่ขณะนี้เห็นแล้วว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีของโลก เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งคนที่บริหารบ้านเมืองในปัจจุบัน ไม่เข้าใจสิ่งที่ก้าวหน้าของโลก และเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ยากที่คนรุ่นเก่า 50 ขึ้นไปตามทัน แต่คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจมากกว่า 

ด้าน นายพิชาย กล่าวว่า โครงสร้างที่อยากจะกล่าวถึง  คือการเมืองในสังคมไทยในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตนได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าเป็นการเมือง ที่ผู้บริหารปกครองประเทศ ขาดเจตนารมย์ทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ผลของการขาดสิ่งดังกล่าวทำให้เกิดการปะทุออกมาจากหลายด้าน เช่น การละเลยปัญหาเศรษฐกิจ, การขาดการแก้ไขปัญหาเรื่องของโรคระบาด, ไม่แก้ไขหรือปฏิรูประบบรวมทั้งกลไก ของกระบวนการยุติธรรมเช่น ตำรวจ นอกจากนี้รัฐบาลไม่เข้าไปจับต้องในเรื่องของทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารในทุกองคาพยพ ของหน่วยงานหรือสถาบันการเมืองต่างๆ ทำในลักษณะผ่านไปวันๆ และอาศัยอำนาจกับตำแหน่งในการแสวงหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อเตรียมครองอำนาจต่อไป ซึ่งน่ากังวลอย่างมากสำหรับสังคมไทย องคาพยพทางการเมืองไม่เพียงแต่ในส่วนของรัฐบาล แต่รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เห็นได้ว่าการลงมติของ ส.ส.เสียงข้างมากไม่ยอมรับแก้ไขกฎหมายใหม่ๆ ส่วน ส.ว.ก็เป็นการรักษาเสถียรภาพ และอำนาจของรัฐบาลเป็นหลักส่วนกลไกของราชการก็มุ่งเน้นไปที่เจ้านายมากกว่าประชาชน

นายพิชาย กล่าวว่า โครงสร้างทางการเมืองอีกเรื่อง คือ รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์แก่บางกลุ่มเป็นหลัก แล้วก็ถูกต่อต้านจากอีกกลุ่มหนึ่งเพราะฉะนั้นพลวัตทางการเมืองไทย จึงถอยหลังมากกว่าจะก้าวหน้า สถานการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในระยะยาว และต่อไปจะเพิ่มขึ้นด้วยเรื่อยๆ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีขึ้นมามีอำนาจ ในช่วงที่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีฐานหลักคือกองทัพสนับสนุนให้รัฐประหาร และเสี่ยงเกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ใช้ระบบตั้งส.ว.ขึ้นมารองรับอำนาจของตัวเอง

“คะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนเลือกตั้ง มีอยู่ประมาณ 30-40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นฐานที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงหลังเลือกตั้ง แต่พอจัดตั้งรัฐบาลผลความสำเร็จ ออกมาชัดเจนขึ้นว่าความสามารถในฐานะเป็นผู้นำประเทศ มีค่อนข้างน้อยและไม่สามารถจัดการปัญหาของประเทศที่รุมเร้าได้ รวมทั้งสร้างปัญหาเองขึ้นมาในหลายเรื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ ปัญหาสั่งสมต่างๆ ความนิยมตกต่ำ ทำให้เห็นเลยว่าคะแนนนิยมลดลงเรื่อยๆ”  นายพิชาย กล่าว

นายพิชาย กล่าวว่า หากจะวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ก็คือความมั่นคงของกลุ่ม ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในพรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้เริ่มจะสั่นคลอนและพร้อมจะถอนการสนับสนุน ถ้ามีโอกาสหรือจังหวะซึ่งเป็นผลพวงหนึ่ง ที่รับรู้ได้จากกระแสความรู้สึกและความต้องการของสาธารณะ เบื่อหน่ายและสิ้นศรัทธาในการนำของพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้องครักษ์รอบข้างที่เคยปกป้องอย่างแข็งขัน ก็ล้วนประสบชะตากรรมจนหลุดจากตำแหน่ง ปัจจุบันแทบไม่มี ส.ส.หรือนักการเมืองคนไหน ที่จะทำตัวพิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป และการออกจากตำแหน่งของ องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์นั้น ก็มาจากประเด็นทางการเมืองหรือ ส่อแววว่าอาจจะละเมิดกฎหมาย  สะท้อนว่าการเลือกคนมาทำงานใกล้ชิด เป็นการเลือกคนที่ขาดการรอบคอบและไม่วิเคราะห์คนมาทำงานอย่างแท้จริง

อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นิด้า กล่าวว่า ส่วนคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่ามีฝีมือทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน ก็ถูกทอดทิ้งจาก พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน ทั้งหมดนี้เห็นว่าฐานนิยมที่สนับสนุน นั้นหดหายสั่นคลอน แต่น่าแปลกใจว่าเหมือนพล.อ.ประยุทธ์พยายาม ที่จะส่งสัญญาณว่าตัวเองอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย และหากจะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ไม่ได้วิเคราะห์ สภาพความเป็นจริงของตัวเองเลยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการหลงตัวเองมากกว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเผชิญ คือการลงมติของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องการโหวตร่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นจุดเสี่ยงอย่างมาก และเรื่องเงื่อนไขและธรรมนูญที่จะอยู่ครบวาระ 8 ปีภายใต้สภาพที่ตัวเองมีสถานะที่ง่อนแง่น และเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้หลุดจากตำแหน่ง อย่างเจ็บปวดด้วยการแพ้โหวตในสภาซึ่งอาจจะเกิดขึ้น

นายพิชาย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มี 2 ทางเลือก คือ 1. ยุบสภา 2. ลาออก และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งนั้น ตนเห็นว่าเป็นความเพ้อฝันเพราะตอนนี้ไม่มีฐาน ของพรรคการเมืองที่สนับสนุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคพลังประชารัฐเอง หรือพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่เสียงของ ส.ว. เลือกตั้งครั้งหน้าการที่ ส.ว.จะมีอิทธิพลกำหนดใครเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะมีได้น้อยมากไม่เหมือนกับปี 2562 อีกต่อไป อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นไปได้ ที่พรรคการเมืองจะจับมือกันได้เสียงเกิน 250 เสียงมีสูงมาก โดยไม่ต้องหวังพึ่งเสียงของ ส.ว.อีกต่อไป ดังนั้นสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน คือ หมดอายุหรือหมดมูลค่าทางการเมือง ไม่มีอะไรจะมาขายแล้วหรือจะให้คนอุ้มชูอีกต่อไป

ด้าน ดร.ปริญญา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือต้นตอของปัญหาหากไม่มีการ สืบทอดอำนาจมาถึงทุกวันนี้ ปัญหาบ้านเมืองก็คงไม่บานปลาย เพราะไม่เคยมียุคไหนที่ทำให้การเมือง ขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวอย่างชัดเจน รวมทั้งปัญหาของรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เข้าใจหากใครจะพูดอย่างไร เพราะเคยบอกกับคนไทยทั้งประเทศว่า ขอเวลาอีกไม่นานจะคืนความสุขให้ประชาชน แต่สุดท้ายกลับสืบทอดอำนาจต่อ ด้วยเสียง ส.ว.ที่โหวตเลือกเข้ามา แล้วยังมีการแก้ไขทำให้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบทรัพย์สิน ของนายกรัฐมนตรีได้เลย ทำให้ส่งผลต่อทางออกของประเทศ, ประชาชนและพรรคการเมือง  

“การนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมตรี ซึ่งจะครบ 8 ปี ยังคงเป็นคำถามว่าจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ นับจากปี 2557 หรือ 2560 หรือปี 2562 กันแน่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์นั้นจะหมดวาระหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ เชื่อว่าจะมีบรรดา ส.ส.เข้าชื่อยื่นศาล รธน. วินิจฉัยอย่างแน่นอน ทั้งนี้หาก ส.ส.ไม่ยื่นตีความ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถยื่นตรงยังศาลได้เช่นกัน หากต้องการให้เรื่องทุกอย่างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และยุติธรรม และศาลเมื่อรับแล้วพลเอกประยุทธ์จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อครบเวลา 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ หากศาลตีความแล้ว อาจจะมีปัญหาต่อกิจการที่นายกฯ ได้ดำเนินการมาหรือไม่ รวมถึงจะต้องคืนเงินหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันตามกฎหมายต่อไปเช่นกัน ดังนั้นขอให้มองถึงภาพรวมของประเทศ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็มาจากตัวท่านเอง ทั้งนี้การเลือกตั้งครั้งหน้า ขอไม่ให้ สว. มาเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกหรือไม่

ด้าน นายธีระชัย กล่าวว่า ตนขอเสนอแนะก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าร่วมการประชุมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีในการเข้าประชุมกับผู้นำอาเซียน 12-13 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เพราะตลอด 8 ปี รัฐบาล ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย ทั้งในภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

“กระบวนการค้าโลกกำลังเดินทางสู่จุดหักเหในระดับใหญ่ โดยแยกเป็น 2 ฝ่าย นำโดยสหรัฐอเมริกาและจีน ฝั่งที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีแนวโน้ม ที่จะอาศัยข้อตกลงระหว่างประเทศ มาเอาชนะสงครามการค้า ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อนำอิทธิพลของประเทศในคาบสมุทรอินเดีย เพื่อมาคานอำนาจกับจีน เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ได้เปลี่ยนแปลงไปในยุคของ โจ ไบเดน จนมีลักษณะของความมั่นคงและการทหารเข้ามา นำมาสู่ข้อกังวลของหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน เพราะองค์กรนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) แห่งที่ 2 จุดนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ พลาดท่า และอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้” อดีต รมว.คลัง กล่าว