เมื่อเวลา 07.46 น.วันที่ 2 พ.ค. 2565 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ  จ.ชลบุรี ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุผลดังพระปณิธานในการจำกัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ  และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จ

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระวโรกาสให้ พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้ารับพระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเวชภัณฑ์ เพื่อนำไปใช้ดูแลรักษา รวมถึงควบคุมประชากรสุนัขและแมวภายในพื้นที่กองเรือยุทธการ และพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่โปรดให้จัดกิจกรรมสัญจรแบบเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวของประชาชนและสัตว์จรจัด ทั้งการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขและแมว

พร้อมกับทรงนำทีมออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน  และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทรงร่วมผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขในวันนี้รวมจำนวน 11 ตัว  เพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของประชากรสุนัขในพื้นที่ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ

ก่อนจะดำเนินการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขแต่ละตัว ทรงวางยาสลบ ด้วยการฉีดและดมยาสลบ พร้อมกับทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิตรวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยาดมสลบที่ใช้ ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิด คือ  Sevoflurane  ร่วมกับ Desflurane  ซึ่งทรงศึกษาพบว่าจะทำให้สัตว์สลบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสัตว์ฟื้นจากสภาวะสลบได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูงด้วย

สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยในปี 2565 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 1 รายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และพบอัตราการเกิดโรคในสุนัขและแมวที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุหลักยังเกิดจากการที่ผู้ถูกสุนัขและแมวกัดแล้วไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนการที่สุนัขและแมวไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างคลอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ จึงทรงให้ความสำคัญและเน้นยำอยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ปัญหาและร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ การออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ยังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่น ทั้งจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน   ที่ร่วมกันปฏิบัติงานออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่อย่างเต็มกำลังเพื่อให้พื้นที่ในจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สนองพระปณิธานในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน  โดยวันนี้ มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ ผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 84 ตัว