เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ช่วงนี้ตนเห็นหลายคนออกมาขอโทษต่อการแสดงออกทางการเมืองของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ แต่ในฐานะที่เป็นคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองของบ้านเมืองเช่นกัน จะขอลำดับถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงวิกฤติการเมืองออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 มีการเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมของรัฐบาลเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการอภิปรายคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง จาก ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างพรรค ปชป. แม้แต่สมาชิกฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะพ่อของเขาเสียชีวิต จากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วย แต่รัฐบาลยังดึงดันที่จะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยไปให้ได้ โดยการลงมติตอนตี 4 ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายล้างผิดให้กับคนโกงหรือกฎหมายลักหลับ

นายเทพไท ระบุต่อว่า ช่วงที่ 2 เมื่อการต่อสู้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ประสบความสำเร็จ ก็มี ส.ส.พรรค ปชป.จำนวนหนึ่งได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา มีการชุมนุมต่อต้านกฎหมายล้างผิดให้คนโกง ในนามกลุ่ม กปปส.ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนหลักแสนเป็นจำนวนหลักล้านคน และมีการชุมนุมกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน เพื่อขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่

นายเทพไท ระบุด้วยว่า ช่วงที่ 3 เป็นการทำรัฐประหารของคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กระทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากสถานการณ์บ้านเมืองถึงทางตัน มีการเผชิญหน้าของกลุ่มมวลชนทั้งกลุ่ม กปปส.และกลุ่ม นปช. จนมีการเชิญแกนนำของทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมหาทางออกของบ้านเมือง ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต และมีการเสนอให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ได้รับคำตอบการปฏิเสธโดยไม่มีการลาออกแต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของการประกาศยึดอำนาจของ คสช. และช่วงที่ 4 หลังจาก คสช. ได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเป็นเวลา 4 ปี และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ขึ้นมา เพื่อใช้ในการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยมีสาระสำคัญคือ การแต่งตั้ง ส.ว.จำนวน 250 คน และมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

นายเทพไท ระบุต่อว่า จากเหตุการณ์ทั้ง 4 ช่วงนี้ ตนได้มีอยู่ในทุกสถานการณ์ ถ้าจะถามว่า ตนเห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ช่วงนี้หรือไม่ ตนขอตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนเห็นด้วยกับเหตุการณ์ในช่วงที่ 1 เพราะเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และได้อภิปรายคัดค้านอย่างเต็มความสามารถ แต่ไม่สามารถที่จะต้านทานเสียงข้างมากลากไปได้ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับมวลชนในช่วงที่ 2 คือการเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งเป็นความจำเป็นทางการเมือง เมื่อสู้ในสภาฯ ไม่ได้ เพราะเกิดเผด็จการสภา ก็ต้องออกมาสู้นอกสภาร่วมกับมวลมหาประชาชน ซึ่งตนเห็นด้วยกับข้อนี้

ส่วนช่วงที่ 3 ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่เห็นว่าบ้านเมืองมาถึงทางตัน มีความขัดแย้งและมีมวลชนเผชิญหน้ากัน มีความรุนแรง มีการล้มตาย จึงจำเป็นต้องมีคนกลางเข้ามายุติปัญหา โดยการควบคุมการบริหารประเทศเพื่อเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งระยะหนึ่ง แล้วค่อยคืนอำนาจให้กับประชาชน ส่วนช่วงที่ 4 เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งเป็นธรรมชาติของฝ่ายเผด็จการ ที่เข้ายึดอำนาจตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ เกิดการเสพติดอำนาจ ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป เหมือนกับการขี่หลังเสือจะลงจากหลังเสือก็กลัวจะถูกเสือกัด จึงต้องขี่หลังเสืออีกต่อไป

นายเทพไท ระบุอีกว่า ตนเข้าใจความรู้สึกของหลายๆ คน รวมทั้งนายจอนนี่ แอนโฟเน่ ที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส.และมีความคาดหวังว่า หลังจากการชุมนุมแล้วจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปการเมืองในทุกด้าน แต่เมื่อเกิดความล้มเหลวในทุกด้าน ทำให้เกิดความผิดหวังในกลุ่มมวลมหาประชาชน ที่อยากเห็นความเจริญก้าวหน้า ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการออกมาขอโทษสังคม และมีส่วนหนึ่งก็แปรเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่มาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช.ในปัจจุบันเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวตนจะไม่ขอโทษใดๆ และยังยืนยันว่า ได้ตัดสินใจถูกต้อง ในสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น แม้ว่า ทุกอย่างจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังไว้ ก็รู้สึกเสียดาย แต่จะไม่จำเป็นต้องขอโทษ และขอให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ทุกคน จงภูมิใจและเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ที่ได้แสดงออกทางการเมืองในวันนั้น ถ้าจะให้คะแนน 100% ใน 4 ช่วงนั้น ตนให้คะแนนช่วงที่ 1 = 25% ช่วงที่ 2 = 25% ช่วงที่ 3 = 0% และช่วงที่ 4 = 0%