เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด โดยช่วงหนึ่ง ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กัญชาถือเป็นสารเสพติด ผู้ใหญ่มีโอกาสเสพติดประมาณ 9% เด็ก วัยรุ่น 17% และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น ซึ่งจากการทำ MRI พบสมองเล็กลง รอยหยักเปลี่ยนไป เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้และสติปัญญา ไอคิวลด มีผลต่อความจำ ความสามารถในการใช้เหตุผล สมาธิ ทักษะแก้ปัญหาชีวิต มีปัญหาความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง พบความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เกเร

ทั้งนี้ พบพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่ใช้กัญชา สูง 3-4 เท่า น่ากังวลหากเปิดใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ปัญหาการฆ่าตัวตายอาจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว เกิดความเครียดจากกัญชา และการเงิน มีข้อมูลพบการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ความรู้สึก การล่วงละเมิดทางเพศสูงขึ้นด้วย ดังนั้น สมาคมจิตแพทย์ฯ ขอให้ร่าง พ.ร.บ.ที่จะผ่านสภาฯ นั้นตีกรอบเฉพาะการใช้ทางการแพทย์ก่อน รอพัฒนาระบบตรงนี้ให้เข้าที่ค่อยมาว่าเรื่องการใช้กัญชาด้านอื่น

นพ.สุจิระ ปรีชาวิทย์ รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ เปิดเผยว่าสาร THC ที่เป็นสารที่พบในกัญชา ส่งผลต่อสมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดอาการโรคจิตมีหูแว่ว หวาดระแวง โรคซึมเศร้า มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำให้โรคจิตเวชเดิมแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคจิตเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเพิ่มความเสี่ยงใช้และติดสารเสพติดชนิดอื่น

จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 63-64 ช่วงการระบาดของโควิด–19 พบว่าผู้รับบริการแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน แผนกจิตเวชลดลง แต่ผู้เข้ารับการรักษาโรคจากการใช้สารเสพติดไม่รวมแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 20-40% ดังนั้นการออกนโยบายกัญชาควรสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม รัฐควรทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันป้องกันประชาชน เยาวชนจากความเสี่ยงของกัญชารูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการอย่างเสรี.