เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังจากพระพรหมวชิรเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค  5 ได้เข้ารับการรักษา ที่หอผู้ป่วยหนักวิกฤต (ICU) โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยมีอาการเหนื่อยฉันอาหารได้ลดลง จากภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับมีภาวะเลือดเป็นกรดและการทำงานของไตลดลง ทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลพุทธชินราช ให้การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจและการฟอกไตร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ 

ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ทางโรงพยาบาลพุทธชินราช ได้ออกประกาศอาการพระพรหมวชิรเจดีย์ ว่าสัญญาณชีพยังไม่คงที่ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ และเครื่องช่วยหายใจ, มีภาวะไตทำงานน้อย ไม่มีปัสสาวะออกต้องฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตชนิดต่อเนื่อง, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะเลือดเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ยังคงให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำต่อเนื่อง และมีภาวะซีดและเกร็ดเลือดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด จำเป็นต้องได้รับเลือดและเกร็ดเลือดทดแทน จนกระทั่งวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 05.00 น. อาการโดยรวมเริ่มทรุดลง สัญญาณชีพไม่คงที่ ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ทีมคณะแพทย์ผู้รักษาได้ทำการเพิ่มยากระตุ้นหัวใจหลายชนิด แต่พบว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษาพระพรหมวชิรเจดีย์ มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อเวลา 12.02 น.

ทั้งนี้ พระพรหมวชิรเจดีย์ เข้ารับการรักษา ณ หอผู้ป่วยหนักวิกฤต (ICU) โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565

นามเดิมชื่อว่า “นายบำรุง มากก้อน” เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ที่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลมะขามสูง อำเภอเมืองพิษณุโลก บรรพชาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ณ วัดกระบังมังคลาราม ตำบลหอกลอง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก อุปสมบทเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2500 ณ พัทธสีมาวัดกระบังมังคลาราม โดยมีพระพิศาลธรรมภาณี เป็นอุปัชฌาย์

ประวัติโดยย่อ การศึกษา เปรียญธรรม 7 ประโยค เกียรติคุณ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ตำแหน่ง

พ.ศ. 2534 เป็น เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

พ.ศ. 2545 เป็น รองเจ้าคณะภาค ๕

พ.ศ. 2564 เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๕

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2515 เป็น เปรียญธรรม 7 ประโยค

5 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระศรีรัตนมุนี [2]

5 ธันวาคม พ.ศ. 2535 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชรัตนมุนี ศรีปาพจนาลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]

5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพรัตนกวี เมธีธรรมสาธก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]

5 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเสนานุวัตร พิพัฒน์กิจจานุยุต พุทธชินราชวรธาดา ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [5]

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพุทธิวงศมุนี ศรีพุทธศาสตรโกศล วิมลพุทธชินราชธํารงวิศิษฎ์ พิพิธศาสนกิจจาทร ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [6]

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ได้รับพระราชทานราชทินนาม เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรเจดีย์ ศรีพุทธศาสตรโกศล วิมลพุทธชินราชธารงวิศิษฎ์ พิพิธศาสนกิจจาทร ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [7]