เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง บทเรียน ลาซาด้า กับ ศรัทธาของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,171 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 95.9 ระบุ ไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาของลาซาด้าตามที่เป็นข่าว โดยเป็นการดูแคลนศรัทธาของคนไทยทั้งสถาบันหลักของประเทศและคนพิการ 

นอกจากนั้น ร้อยละ 95.5 ระบุ การโฆษณา ลาซาด้า เป็นการเหยียดหยาม ล้อเลียนคนพิการ ลดทอนและด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และ ร้อยละ 95.5 เช่นกัน ระบุการโฆษณา ลาซาด้า เสี่ยงต่อการละเมิด กฎหมายที่ต้องพิทักษ์รักษา เสาหลักของชาติ เป็นการเสียดสีล้อเลียน กระทบศรัทธาของคนไทย

ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 98.2 ระบุ ต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีและการใช้สื่อ สอดส่องดูแล บังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการละเมิดกฎหมายหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ที่น่าสนใจ ร้อยละ 96.3 ระบุ เหตุที่เกิดขึ้น ควรร่วมแสดงจุดยืนที่ถูกต้องและร่วมใช้มาตรการทางสังคม ออกมาปกป้องเสาหลักของชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการ หรือการกระทำที่ขัดกับศีลธรรมจรรยา และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 ระบุ ต้องการให้ลาซาด้าและผู้เกี่ยวข้อง ออกมาแสดงจุดยืนถึงสามัญสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่  ขณะที่ ร้อยละ 91.5 ระบุ สมควรที่จะสั่งปิด ลาซาด้า เป็นตัวอย่างการลงโทษที่ ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้มีการละเมิด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้พิการและศรัทธาคนไทย

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจปรากฏการณ์ลาซาด้า ตามที่เป็นข่าว สะท้อนถึงกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ต่อการทำธุรกิจที่ไม่ยึดกรอบศีลธรรม ขาดจรรยาบรรณและสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การใช้สิทธิและเสรีภาพในการทำธุรกิจ ที่เลยกรอบกฎหมาย ขาดศีลธรรม รวมทั้งไม่ใส่ใจรับรู้และทำหน้าที่ของคนไทยตามกฎหมาย โดยเฉพาะการก้าวล่วงศรัทธาคนไทยต่อสถาบันหลักของชาติ และการด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้พิการ เป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ โดยต้องการเห็นลาซาด้าและผู้เกี่ยวข้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญ อยากเห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสอดส่องกำกับดูแลการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่เห็นถึงความเข้มแข็งของสังคม ร่วมเคลื่อนไหว ตื่นตัว ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมต่อปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมายและมาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบ ทำผิดซ้ำซากเกิดขึ้นตามทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) โดยเฉพาะการด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศรัทธาของผู้อื่นโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง