กรณีศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัวป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร) จับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ของในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.64 ถึงปัจจุบันศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้น 41 ราย แบ่งเป็น แม่เล้า 12 ราย ผู้ซื้อบริการ 28 ราย และผู้สนับสนุน 1 ราย คุ้มครองเด็กไม่เกิน 15 ปี 10 ราย โดยได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีอย่างต่อเนื่องนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พ.ต.อ.กิตติพงษ์ ทองทิพย์ รอง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศพดส. ภาค 8 และหัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภาค 8 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กสุราษฎร์ธานี ว่า หลังจากที่ได้สอบสวนปากคำพยานซึ่งเป็นเด็กในคุ้มครองของบ้านพักเด็กสุราษฎร์ธานี 8 ปาก ซึ่งให้การว่า ได้ถูกนายเอ็ม (สงวนชื่อและสกุลจริง) ซึ่งมีหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายและทุบตี จึงได้เรียกนายเอ็ม พนักงานราชการ ตำแหน่งพี่เลี้ยง มาแจ้งข้อหาทำร้ายร่างการผู้อื่น, กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมเด็ก และเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานแรกรับทำร้ายร่างกายหรือลงโทษด้วยวิธีการรุนแรงไม่เป็นไปตามที่ระเบียบกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และนำตัวขออนุญาตฝากขังที่ศาลแขวงสุราษฎร์ธานี โดยขณะนี้ นายสุวัฒน์ อยู่ระหว่างควบคุมตามอำนาจศาล คาดว่าพนักงานสอบสวนจะสามารถสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อพิจาณาฟ้องต่อศาลแขวงสุราษฎร์ธานีได้หลังได้รับผลการตรวจร่างกายของผู้เสียหาย

พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนกรณีการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่ง น.ส.อัจฉรา สุระกุล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวหา ความผิดตามมาตรา 157 ฐานความผิด เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ ความผิดมาตรา 139 ฐานความผิดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ฯ และข้อหาขัดขวางการสืบสวนการฟ้องร้องหรือการดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อมิให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถ้าเป็นการทำอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พนักงานสอบสวนในคดีได้สอบปากคำประจักษ์พยานเสร็จเรียบร้อย 3 ปาก และพยานแวดล้อมจำนวนหนึ่งรอเพียงพยานเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะสามารถส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ภายในวันที่ 12 พ.ค.

ด้าน พ.ต.อ.พัลลภ สุริยะกุล ณ อยุทธยา รองผบก.สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในคดีนี้ชุดสืบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานในขบวนการค้าประเวณีเด็ก ที่มี เจ้น้ำ (สงวนชื่อและสกุลจริง) เป็นแม่เล้า เรายังพบความเชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่นๆในขบวนการอีกหลายคนแต่เป็นลักษณะเครือข่ายเฉพาะภายในพื้นที่ส่วนกลุ่มผู้ซื้อบริการหลากหลายไปในหลายจังหวัด ซึ่งชุดทำงานยังคงเดินหน้าสืบสวนหาตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีไม่มียกเว้นเพื่อเป็นการคุ้มครองและช่วยเหลือเหยื่อ โดยในช่วง 5 เดือนการทำงานอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่สามารถออกหมายจับส่วนที่เกี่ยวข้องได้ 42 หมาย ติดตามจับกุมได้ 36 คน และยังไม่สามารถจับกุมได้ 5 หมาย ผู้ต้องหา 4 คน และในสัปดาห์นี้คาดว่าจะขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมเป็นลอตที่ 4

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องหา 4 ราย ที่ยังคงหลบหนีการจับกุมนั้น มีผู้สนับสนุน เป็นหญิง 1 ราย และผู้ซื้อบริการทางเพศ 3 ราย โดยหนึ่งในนั้น คือ นายแสงโรจน์ กาญจนะ หรืออ้วน ลูกชายอดีตนักการเมืองคนดัง ซึ่งมีหมายจับที่ยังไม่สามารถควบคุมตัวได้ 2 หมาย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าได้มีการติดต่อเพื่อขอมอบตัวกับตำรวจแล้ว ขณะที่ดีเอสไอ ได้รับคดีค้าประเวณีเด็กในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นคดีพิเศษและเตรียมลงพื้นที่เพื่อร่วมทำงานกับชุดสืบสวนขยายผลในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.)

ด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดไม่ได้ละเลยปัญหาและพอจะมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมการรวมกลุ่มของเด็กๆ เหล่านี้มาบ้าง แต่ที่ผ่านมามีเพียงหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สุราษฎร์ธานี เท่านั้น ที่คอยสอดส่องดูแลและให้ความช่วยเหลือ ยอมรับว่าไม่ทั่วถึงซึ่งในส่วนของคดีอาญาก็ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมาย และทางจังหวัดตนจะเข้าไปดูแลเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ พม.จังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สพฐ.และ สพม. เข้าติดตามและปรับทัศนคติเยาวชน รวมถึงปรับวิถีชีวิตและวิธีเลี้ยงดูเยาวชนโดยเฉพาะการให้ความรู้กับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคโซเชียลที่ผู้ใหญ่เราจะต้องเรียนรู้ให้เท่าทันรวมถึงหาทางป้องกันไม่ให้บุตรหลานหลงผิด

นอกจากนั้นตนได้มีแต่งตั้งคณะทำงานร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดติดตามกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเตร็ดเตร่ไม่มีอาชีพเป็นหลักเเหล่งและอยู่นอกระบบการศึกษาเเต่มีความเป็นอยู่หรูหราฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่กับสถานบันเทิงเช่น ผับ บาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นรายๆ และได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านการศึกษาในทุกระดับชั้นเร่งติดตามให้เด็กและเยาวชนในกลุ่มเสี่ยงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ และการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการฝึกอาชีพ  รวมถึงตนจะทำหนังสือความร่วมมือของหน่วยงานระดับชาติโดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจเเห่งชาติเเละกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (DE) ให้ตรวจจับเเละบล็อคโทรศัพท์มือถือหรือ IP Address (Internet Protocal Address) ที่เข้าถึงเว็บไซต์หรือกลุ่มเพจที่เสี่ยงอันตรายเรื่องเพศและยาเสพติด.