นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 3 กรมจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ไปดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บ และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี โดยเชื่อมั่นว่าจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ราว 2.4 ล้านล้านบาท

“เชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เป็นไปตามเป้าหมาย โดยขอให้คนที่ห่วงใยว่ารัฐจัดเก็บรายได้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อย่าได้กังวล เพราะกระทรวงการคลังทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเข็มงวด”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากร ถือเป็นหน่วยจัดเก็บภาษีที่ทำรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุด คิดเป็น 65% โดยในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากร ได้นำกลยุทธ์ ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน มาปรับเปลี่ยนงานให้ทันสมัย และนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เพื่อใช้จัดเก็บภาษี รวมถึงนำนวัตกรรม และเทคนิคการบริหารงานยุคใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ กรมฯ จัดเก็บรายได้รวม 8.52 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.15 แสนล้านบาท หรือ 15.6% และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.01 แสนล้านบาท หรือ 13.5%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ ได้แก่ กรมสรรพากร ตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณปี 65 ไว้ที่ 1.87 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิต ตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่  592,000 ล้านบาท ส่วนกรมศุลกากร ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100,000 ล้านบาท

ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-มี.ค.65) รัฐ จัดเก็บรายได้สุทธิ 1.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 68,890 ล้านบาท หรือ 6.7% และสูงกว่าปีก่อน 6.8% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ของกรมสรรพสากรที่สูงกว่าประมาณการกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ