ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลง โคก หนอง นา ของ น.ส.อรุณี ก้านเพชร บ้านซำ หมู่ที่ 1 ต.ซำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายจิรศักดิ์ ศรีอร่าม ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทน นอภ.เมืองศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี นายชัยยงค์ ผ่องใส ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ นายสมคิด คำเสียง พัฒนาการอำเภอเมืองศรีสะเกษ พ.ต.ท.พิเนตร ดาวเรือง รอง ผกก.ป.สภ.เมืองศรีสะเกษ จิตอาสา ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม

นายชัยยงค์ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทย ในปัจจุบันต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการสาธารณสุขด้านการคมนาคมและอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางสังคมขนาดหนักไปทั่วทั้งโลก จากรายงานของ McKinsey & Company (March 26, 2020) จะส่งผลให้โลกมีผลผลิต (Productivity) ลดลงถึง 30% นั่นหมายถึงโลกจะขาดอาหารและเศรษฐกิจจะมีการเติบโตลดลง -1.5% ของ World GDP 

อีกทั้งวิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมที่คาดว่าจะมีความรุนแรงขึ้นทั้งในเชิงความผันผวน ความถี่ และขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทำให้เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ของประเทศเกิดความเสียหาย เพิ่มปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ขณะที่ระบบนิเวศต่าง ๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง และมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถในการรองรับความต้องการมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทางออกของประเทศไทยในการรอดพ้นวิกฤติและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และนโยบายรัฐบาลที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลัก ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข”

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคี ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ตามกลไกการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางวิกฤติโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ด้วยการจัดทำโครงการที่ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์กับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบ เชิงภูมิสังคมไทย เพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” สร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับหมู่บ้านในภูมิสังคมต่าง ๆ ผ่านการทำงานในรูปแบบการจ้างงานและการร่วมกัน ลงแรงด้วยการสนับสนุนวัสดุพื้นฐานและงบประมาณ และบูรณาการการทำงานจากภาคีภาคส่วนต่าง ๆ 

เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในระดับพื้นฐาน ให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน ในพื้นที่ 22 อำเภอ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้มีการทำ โคก หนอง นา โมเดล แล้วทั้งสิ้น 1,550 แปลง ได้มีการระดมปลูกในส่วนของพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ตลอดจนข่า ตะไคร้ ที่เป็นพืชสมุนไพร ต่างๆ เพื่อที่จะให้ เราได้ใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ มาต่อสู้ในเรื่องของภัยโรคระบาดโควิด-19 ด้วย 

ด้าน น.ส.อรุณี ก้านเพชร อายุ 25 ปี เจ้าของที่นา เปิดเผยว่า ตนเรียนจบในระดับปริญญาตรี และได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล จากพัฒนากรชุมชน และสื่อต่างๆ และได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อเข้าอบรมสัมมนา เรียนรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อสืบสานพัฒนาต่อยอดแนวทางพระราชดำริ แล้วนำมาลงมือทำที่แปลงนาของตน โดยการประยุกต์ใช้พื้นที่นา เปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสาน แทนการทำนาเพียงอย่างเดียว และได้ปลูกผัก ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกไม้ผล ขุดบ่อเลี้ยงปลา

แรกๆ ก็มีความกังวลใจบ้างเล็กน้อย เพราะต้องขุดบ่อ ปรับพื้นที่นาเป็นรูปแบบใหม่ แต่ตนก็มีความมั่นใจในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งตนเชื่อว่า โคก หนอง นา โมเดล ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของสังคมไทย.