เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เวลา 15.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แถลงรายละเอียดการปรับแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. …. หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา การปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมรอบนี้เพื่อให้เข้ากับยุคที่มีความทันสมัยทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคน ได้รับประโยชน์สูงสุดนับตั้งแต่มีการตั้งกองทุนประกันสังคมมา 30 ปี โดยในรายละเอียดมาตรการ 3 ขอ คือ 1. “ขอเลือก” โดยให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จ หรือรับเป็นบำนาญ จากเดิมให้สิทธิเป็นบำนาญอย่างเดียว เหตุผลเพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินก้อนสำหรับลงทุนต่อไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทำให้ต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยราคาแพง อย่างไรก็ตามกรณีนี้จะเพิ่มออพชั่นสำหรับคนที่เลือกบำนาญ เมื่ออายุครบ 55 ปี สมมติเพิ่งรับบำนาญได้เพียง 1 ปี แล้วเสียชีวิต ทางกองทุนประกันสังคมจะส่งต่อให้กับทายาทไปอีก 4 ปีหรือ 60 เดือน

2. “ขอกู้” โดยใช้เงินชราภาพที่ส่งสมทบมาจนถึงขณะนั้นไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบ ที่ไม่มีวันเป็นอิสระ ซึ่งจากนี้ต้องออกกฎหมายลูกตามมาอีก 15 ฉบับ และขอที่ 3 คือ “ขอคืน” ซึ่งกรณีนี้มีหลายคนเป็นห่วงว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม ส่วนตัวคำนวณแล้วยืนยันว่าไม่กระทบกับกองทุนแน่นอน ทั้งนี้ในรายละเอียดคือการเปิดช่องให้สามารถขอคืนเงินบางส่วน หรือไม่เกิน 30% ของเงินชราภาพที่สะสมขณะนั้น ยกตัวอย่างมีเงินชราภาพส่งไว้ ณ ขณะนั้นจำนวน 1 แสนบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนที่ผู้ประกันตนส่ง 4 หมื่นบาท นายจ้างสมทบ 4 หมื่นบาท รัฐสมทบ 2 หมื่นบาท เมื่อเกิดวิกฤติขนาดใหญ่ เช่น การระบาดโควิดที่ต้องล็อกดาวน์นานถึง 3 เดือน ผู้ประกันตนสามารถขอคืนในส่วนที่ตัวเองสมทบมาคือ 4 หมื่นบาท อีกกรณีหนึ่งที่คิดไว้ คือกรณีเกิดวิกฤติรายบุคลอย่างรุนแรง เช่น ไฟไหม้บ้านทั้งหมด อาจจะต้องช่วยเหลือหรือไม่ ต้องพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องกำหนดคำนิยามความจำเป็นในกฎหมายลูกให้ชัด ทั้งนี้มาตรการขอคืนจะให้เป็นมาตรการสุดท้าย

“ระยะสั้นไม่กระทบแน่นอน แต่ในระยะยาวมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนรายอื่น เพราะส่งผลให้เงินลงทุนลดลง 3-4% จะได้ดอกผลลดลงด้วย ถือเป็นการเสียโอกาสของผู้อื่น ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้ผู้ใช้สิทธิ 3 ขอ ต้องจ่ายค่าเสียโอกาสให้กับผู้ประกันตนคนอื่นโดยหัก ณ ที่จ่าย อัตรา 3-4%” นายสุชาติ กล่าวและว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว คาดว่าน่าจะมีผู้ประกันตนมาขอสิทธิประมาณ 5 ล้านคน ทั้งนี้ขอให้เชื่อมั่นต่อมาตรการดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกันตนมีความรู้สึกต้องจ่ายเงินสมทบถูกบังคับด้วยกฎหมาย แต่เรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกันตนรู้สึกว่าสามารถจับต้อง หรือได้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือน เมื่อเขาเห็นถึงประโยชน์ก็จะยินยอมกรณีในอนาคตหากจะมีการขยายฐานเงินเดือนในการคำนวณการเก็บเงินสมทบเพิ่มเติม จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท

เมื่อถามว่ากฎหมายน่าจะสามารถออกมาใช้ได้เมื่อไหร่ นายสุชาติ กล่าว่าทุกคนรอมานาน แต่กฎหมายแก้ช้ามากเพราะต้องรับฟังความเห็น ซึ่งวันนี้กฎหมาย ผ่านครม.ไปแล้ว หลังจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา ก่อนส่งกลับมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อยืนยันร่างฯ และ ส่งกลับเข้า ครม. และส่งเข้าสภาต่อไป ต้องไปดูว่าของเราอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ ถ้าต้องเลื่อนการพิจารณาก็ให้พี่น้องของเรา 500 กว่าคนโหวตเลย ถามว่าฝ่ายค้านจะเอากับตนหรือไม่ จริงๆ ถ้าไม่มีอะไร คาดว่าน่าจะได้ใช้ปี 66 จึงอยู่ที่สภาว่าจะเลื่อนการพิจารณาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสร้างความมั่นใจว่าไม่กระทบกองทุนได้อย่างไร เนื่องจากเห็นเพียงมาตรการเงินออกจากกองทุน อย่างน้อย 3 ก้อน นายสุชาติกล่าวยืนยันว่าไม่กระทบ พร้อมมอบหมายให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยร่วมตอบคำถาม ซึ่งระบุว่าในระยะสั้นไม่ได้กระทบ เพราะกองทุนที่ผ่านมามีคนเกษียณ รับบำนาญเพียงประมาณปีละ 4 แสนคน ซึ่งเงินปกติที่เก็บจากลูกจ้าง นายจ้างฝ่ายละ 5% เรากันไว้สำหรับชราภาพฝ่ายละ 3% รวมเป็น 6% แต่ตอนนี้มีการใช้จริงเพียง 1% แต่ในอนาคตอาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรับบำนาญสูงขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้นถือว่าไม่กระทบ เพราะยังมีเงินพอให้คนมาใช้สิทธิ ส่วนระยะยาวไม่กระทบกองทุน เพราะมีการออกแบบว่าคนที่ใช้สิทธิ อยากใช้สิทธิขอคืนเงินชราภาพบางส่วน เขาต้องรับผิดชอบในส่วนที่เหลือ เช่น เอาออก 3 หมื่นบาทตอนอายุ 33 ปี พออายุ 55 ถึงเกณฑ์รับเงินฯ ก็ต้องหักส่วนนี้ออก พร้อมกับค่าเสียโอกาสในการลงทุน เช่น 3%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเวลาเดียวกัน นายสุชาติให้การต้อนรับกลุ่มผู้นำแรงงาน นำโดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม และคณะ ในโอกาสเข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อมอบช่อดอกไม้แสดงความขอบคุณรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ดำเนินการช่วยผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.65) เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มผู้นำแรงงานได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม.