เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีที่ นพ.รวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า การที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91) ประเด็นบัตรเลือกตั้งสองใบ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการกระทำทางนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 156 มาตรา 255 และมาตรา 256 บัญญัติกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการเฉพาะ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 1 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ขาด 2 คดีสำคัญประกอบด้วย คดีแรกวันที่ 1 มิ.ย. เวลา 09.30 น. นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ คดีที่ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แนวร่วมกลุ่มราษฎร ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 และมาตรา 11 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 26 หรือไม่

ส่วนคดีที่สองวันที่ 1 มิ.ย.เวลา 15.00 น. นัดวินิจฉัยคดีที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสาลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดมหาสารคามในคดีหมายเลขดำที่ อ.4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.13 4/2562 อันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีดังกล่าว เป็นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ ส.ส. ของ นายสำลี จากกรณีต้องโทษคดีทะเลาะกับสถานบันเทิงที่อยู่ข้างบ้าน และศาลสั่งจำคุก แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา และให้บำเพ็ญประโยชน์ โดยนายสำลี เดิมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และได้ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ.