เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านเพจ กระทรวงสาธารณสุข โดยกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ศูนย์กลางการระบาดโรคโควิดในประเทศไทยอยู่ที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงกรณีมีการเคลื่อนย้ายประชาชนกลับไปที่ต่างจังหวัดทำให้มีการติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มเติม ขณะนี้การติดเชื้อใน กทม. มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มของประเทศไทยทั้งประเทศ กราฟการระบาดสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นการทำงานความร่วมมือในการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึง ผอ.ศูนย์เขตต่างๆ ใน กทม. ซึ่งมีความสำคัญมากในการจัดการกับปัญหาโรคโรคโควิด-19 ขณะนี้  

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีน มีการสนับสนุนวัคซีนผ่านคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการวัคซีนผ่านสำนักอนามัยและพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันทำงานเชิงรุกในชุมชน โดยจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ (CCRT) ที่มีทั้งบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย ฝ่ายความมั่นคง จิตอาสา มีทั้งหมด 260 ทีม ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองโควิดผ่านแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) และฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้เข้าถึงยาก คือ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ขณะนี้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 59,708 ราย มีการตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ 81,290 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.–28 ก.ค. ขณะนี้ กทม. ฉีดวัคซีนสะสม 5,668,720 โด๊ส เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,643,227 ราย คิดเป็น 66% ฉีดเข็ม 2 แล้ว 1,025,493 ราย คิดเป็น 13.32% โดยสรุปใน กทม.ฉีดแล้ว 5,668,720 โด๊ส จากเป้าหมาย 7,699,174 คน ก็ถือว่า กทม.ฉีดวัคซีนค่อนข้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ว่า สิ้นเดือน ก.ค.64 จะต้องฉีดวัคซีนใน กทม. ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านโด๊ส รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่เรากำหนดไว้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องได้รับวัคซีน ประมาณ 80% ขณะนี้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับเป้าหมาย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการสำรวจประชากรในกทม. 1.5 พันคน ใน 50 เขต พบว่าประชาชนฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็น 76.5% เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา 47.3% ซิโนแวค 28.3% และยังไม่ได้ฉีด 23.5% ส่วนกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงอายุพบว่าในจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ 65.7% ซึ่งผู้สูงอายุในจำนวนนี้ฉีดวัคซีนแล้ว 79.92% ดังนั้นจะเห็นว่ากรมควบคุมโรค ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลทำให้ภารกิจการฉีดวัคซีน และภารกิจสอบสวนควบคุมโรค สามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้น “อย่างไรก็ตามการระบาดของโรคยังมีแนวโน้มสูงอยู่มาตรการที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่หน้ากากอนามัยในที่ชุมชนหรือเมื่อพบกับคนอื่นๆ การเว้นระยะห่างทางสังคมการล้างมือบ่อยๆ ถ้าไม่จำเป็นขอให้อยู่กับบ้านอย่าไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็นยกเว้นการไปหาหมอ ไปฉีดวัคซีนกันไปหาเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สามารถทำได้ ขอให้อยู่บ้านมากที่สุดเพื่อทุกคนจะได้ช่วยกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด” นพ.โอภาส กล่าว.