“มองไกล เห็นใกล้” ภาพการ “สอบสวน” อย่างเข้มข้นถูก “บดบัง” ทันที ด้วยคำสารภาพของ “อดีตนายตำรวจ” เจ้าของคดีดังที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน ยิ่งตอกย้ำความจริงใจในการแก้ปัญหา

“เอฟเฟกต์” ที่ย้อนกลับมาเป็นแรงกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งตีปี๊บจับมือกับนานาชาติมากขึ้น ล่าสุดเห็นชอบ ร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย ในการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Agreement between the Royal Thai Government and the Australian Government concerning Counter Trafficking in Persons Centre of Excellence) ซึ่งจะลงนามในการประชุมเอเปคปีนี้

ภาพความสำเร็จถัดมาที่รัฐคาดหวังเรียกความเชื่อมั่นต่อสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ และบริษัทเอกชนคือ ศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) ที่ใช้เป็นสถานที่พำนักชั่วคราวสำหรับผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ยืนยันความพร้อมเปิดทำการในช่วงปลายปีนี้ โดยเคลมว่าถอดแบบมาจากศูนย์ Dallas Children’s Advocacy Center (DCAC) ของสหรัฐอเมริกา

คดีค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ข้อมูลจาก สำนักแผนงานและงบประมาณ ศาลยุติธรรม รวบรวมสถิติคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา ตั้งแต่ม.ค.-มี.ค.65 มี 277 คดี ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีถึง 86 ราย ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก 2 ราย การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น 7 ราย เอาคนลงเป็นทาส 2 ราย นำคนมาขอทาน 6 ราย และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 20 ราย ด้วยเกือบทั้งหมดเป็นการแสวงหาประโยชน์จากมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้น “พยานบุคคล” จึงมีความสำคัญ แต่พยานกลุ่มนี้มีสถานะเป็นทั้งเหยื่อในคดีค้ามนุษย์ และเป็นผู้กระทำความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

สภาพจิตใจเหยื่อบอบช้ำจากการถูกทารุณกรรมและเกิดความหวาดกลัวจากปัจจัยภายในและภายนอก การค้นหาความจริงในคดีจึงต้องค้นหา ระบุตัวตนเหยื่อ โดยศูนย์คัดแยกฯ ที่มีมาตรฐานสากลจะเป็นกลไกช่วยให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัย มีสภาพร่างกายพร้อมเปิดใจ เผย “ข้อเท็จจริง” ที่สำคัญ โดยเฉพาะเหยื่อคดีค้าประเวณี

แต่จุดนี้ก็อาจมีปัญหากับเหยื่อค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่มักมีกลุ่มนายหน้าปะปนเข้าไปอาศัยจังหวะข่มขู่ ไม่ให้เหยื่อพูดความจริงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำคดี เพราะเหยื่อแรงงานที่เป็นต่างด้าวจะเชื่อฟังนายหน้ามากกว่า ด้วยพูดคุยภาษาเดียวกัน และต้องการให้ทางการเร่งผลักดันออกนอกประเทศ รอเวลาซักระยะก็หาหนทางกลับมาทำงานใหม่ จึงไม่อยากเสียเวลาเป็นพยาน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐกำลังทำ จะออกผลได้มากแค่ไหนไม่รู้  ถ้ามองปัญหาไม่รอบด้าน วัฏจักรค้ามนุษย์ภาคแรงงานอาจวนกลับมาซ้ำรอย.

“ระรักษ์”