เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง) ที่ห้อง George Washington โรงแรม St.Regis กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้พบปะหารือระหว่างอาหารเช้ากับคณะนักธุรกิจสหรัฐ ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน–สหรัฐ หอการค้าสหรัฐ และ National Center for APEC (NCAPEC) ทั้งนี้มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายธานี ทองภักดี ร่วมการหารือด้วย ขณะที่บริษัทเอกชนสหรัฐที่เข้าร่วมหารือ มีทั้งบริษัท เชฟรอน, ConocoPhillips, AirBnB, Marriott, Koch Industries, Lockheed Martin, Organon, PhRMA, Tyson Foods, Boeing, FedEx และ Tesla

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงาน ถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โรคนี้มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัว เติบโตประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งภาคธุรกิจของสหรัฐ มีบทบาทสำคัญ ตนจึงขอขอบคุณที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้นๆ รวมถึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศซูเปอร์ เพาเวอร์ (Super Power) แต่พร้อมใช้ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) สนับสนุนและร่วมมือกับเอกชนสหรัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การเร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐ ในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับการลงทุน ทั้งในการขยายการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย รวมถึงเป็นฐานเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค 2.การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และให้ความสำคัญกับการดูแลฐานทรัพยากร เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณร้อยละ 21 ของจีดีพี โดยรัฐบาลไทยขอเชิญชวนให้มาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ทันสมัยและการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายพลังงานแห่งชาติ ปี 2565 และแนวทาง 4D1E พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 50 ของพลังงานที่ผลิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม Clean Energy Demand Initiative กับภาคเอกชนสหรัฐฯ และหวังว่าข้อริเริ่มนี้จะผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับบริษัทสหรัฐ ในด้านพลังงานสะอาดได้โดยเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังผลักดันนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ระดับโลก ขณะที่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยต้องการร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐ ในการพัฒนาโครงข่ายด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 3.การเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ไทยพร้อมร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด BCG ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “Bangkok Goals on BCG Economy” โดยจะวางรากฐานระยะยาวให้เอเปคร่วมมือกันจัดการกับวิกฤติภูมิอากาศ เพิ่มความพยายามเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เสริมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐ ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ที่ไทยผลักดัน และไทยพร้อมจะแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนของสหรัฐ เพื่อต่อยอดการดำเนินการในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย ในปีการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐ และในอนาคต

ขณะที่ภาคเอกชนของสหรัฐ แสดงความชื่นชมต่อบทบาทของนายกรัฐมนตรีในการผลักดันนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ อีกทั้ง ฝ่ายสหรัฐยังเชื่อมั่นต่อโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ความร่วมมือกันจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น และเชื่อมั่นว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้น