เมื่อวันที่ 14 พ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับ น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ เพื่อติดตามการดูแลคนพิการในจังหวัดชายแดนใต้ พบว่าการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำและมีรายได้เป็นสิ่งที่ผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการต้องการอย่างมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แก่โครงการสร้างอาชีพแก่คนพิการกว่า 1,000 คน อาทิ การทำเกษตรปลอดสาร การเลี้ยงผึ้งชันโรง การทำผ้ามัดย้อม การทำอาหาร ซึ่งเป็นโครงการที่เครือข่ายผู้พิการเสนอบนพื้นฐานความต้องการ โดยขณะนี้สามารถสร้างรายได้เสริม และเป็นรายได้หลักให้แก่หลายครอบครัวแล้ว

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลผู้พิการให้มีพัฒนาการดีขึ้น และลดภาระการดูแลของสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้มีเวลาในการประกอบอาชีพนั้น ขณะนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้นำร่องกิจกรรมเพื่อสนับสนุนโอกาสให้ผู้พิการได้มีอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงและจำเป็นต้องใช้ในการฟื้นฟูสภาพ โดยร่วมมือกับสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และหน่วยงานทุกภาคส่วนใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อาทิ สาธารณสุขจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดและโรงพยาบาลยะลา เพื่อจัดตั้งเป็น “ธนาคารอุปกรณ์คนพิการจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทำหน้าที่รวบรวมอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุน บริจาค หรือผลิตขึ้น และบูรณาการการทำงานกับสถานบริการสาธารณสุขในการค้นหา คัดกรอง สนับสนุน และส่งต่อการให้ความช่วยเหลือคนพิการ ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ เก้าอี้สุขใจ (สำหรับผู้ป่วยติดเตียงให้ประคองตัวขึ้นนั่ง) รองเท้าสั่งตัด เตียงฝึกยืน วอล์คเกอร์ อุปกรณ์ฟื้นการทรงตัว รวมทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันชุด

น.ส.รัชดา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบตรงจุด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ได้ดำเนินการสำรวจครัวเรือนยากจนทั้ง 379 ครัวเรือนแล้ว และจากนี้จะเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อจำแนกปัญหาของแต่ละครัวเรือนที่พบใน 5 มิติ คือ จนสุขภาพ จนรายได้ จนการศึกษา จนความเป็นอยู่ และจนการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เพื่อนำมาแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้เป็นครัวเรือนต้นแบบ เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุม 13,000 ครัวเรือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีงบประมาณต่อไป หากมีครัวเรือนที่หน่วยงานทุกหน่วยเห็นพ้องว่าต้องได้รับความช่วยเหลือใช้งบประมาณ ก็จะจัดสรรงบประมาณให้จากโครงการ “ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”