เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างอาหารกลางวัน (Working Lunch) ระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส (The Honorable Kamala Devi Harris) รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องกับรองประธานาธิบดีว่า “ประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 จะถูกจารึกขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” โดยอาเซียน-สหรัฐ ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อก้าวผ่านความท้าทายใหม่ในหลายประการ พร้อมการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 และการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน 

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าสหรัฐสามารถขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัย การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น การขยายฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ โดยไทยมี “ศูนย์จีโนมิกส์” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านความร่วมมือทางทะเล จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน-สหรัฐ ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก การบริหารจัดการสถานการณ์ทางทะเลให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และตั้งอยู่บนกฎกติกา จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน ไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคมาโดยตลอด โดยเฉพาะการต่อต้านการประมง IUU นอกจากนี้ ไทยจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือเหล่านี้ล้วนเป็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โดยจะนำมาซึ่งการพัฒนาและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาค จึงหวังว่า อาเซียนและสหรัฐ จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ก้าวสู่ยุคใหม่อย่างมั่นคงต่อไป

จากนั้นเวลา 13.30 น. (13 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และและผู้แทนระดับสูงสหรัฐ ได้แก่ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รมว.คมนาคมสหรัฐ รมว.พลังงานสหรัฐ และผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การมีสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งไทยได้ประกาศเป้าหมายในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 

นายกรัฐมนตรี ยังเสนอความร่วมมือใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. การสนับสนุนด้านการเงิน ให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งสหรัฐ มีแผนการเงินระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศที่จะสนับสนุนการสร้าง “อาเซียนสีเขียว” ได้ และ 3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมมือกันปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างสมดุล และเป็นหนทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

“ทั้งนี้ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐานของการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืนแบบองค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐ ให้ความสำคัญ และสามารถต่อยอดในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้าได้”
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ป่าไม้ การปลูกพืชมีค่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่ง “เราหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว” ซึ่งความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว การหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และความร่วมมือร่วมใจแบบไม่แบ่งฝักฝ่าย จะเป็นหลักประกันสำคัญถึงความอยู่รอดของโลกและคนรุ่นหลังต่อไป

จากนั้นเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤติพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกันมองไปข้างหน้าและเดินหน้าไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐ มุ่งสร้างภูมิทัศน์ใหม่ ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ได้แก่ “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยยินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐ ให้ความสำคัญกับอาเซียน 

นายกรัฐมนตรี ยังหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

นอกจากนี้ “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” ทั้งนี้โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน จึงเสนอให้อาเซียนและสหรัฐ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และสุดท้าย “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ 

โดยเชื่อว่าแนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตันไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค.65 

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ 

1.การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่างๆ 2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน 3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล 4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม 5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค 6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน 7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ