วันที่ 20 พ.ค.นี้ จะถึงเส้นตายของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจาก ครบกำหนดการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาทกันแล้ว…สัญญาณตอนนี้แน่ชัดแล้วว่า กระทรวงการคลังต้องสวมบท…เตี้ยอุ้มค่อม ต่ออายุมาตรการลดภาษีกันอีกระลอก เพราะหากเทียบสถานการณ์ช่วงที่คลังตัดสินใจลดภาษีดีเซลเมื่อเดือน ก.พ. 65 กับปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์ราคาพลังงานยังสูงทะลุลิมิต น้ำมันดิบเกินลิตรละ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่อง

ที่วิกฤติไปกว่าเวลานั้น สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด แบกหนี้หลังแอ่นติดลบแดงเถือกกว่า 66,681 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 33,258 ล้านบาท กับบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบ 33,423 ล้านบาท ทำให้กองทุนฯมี “สภาพคล่อง” เงินสดเหลือติดบัญชี 12,932 ล้านบาทเท่านั้น!!! และจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องแบกภาระอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลถึง 10-11 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคา ณ เวลานี้ไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร ขยับจากกรอบเดิม 30 บาทต่อลิตร

สั่งด่วนลดภาระประชาชน

กลายเป็นปัญหา “หนักหน่วง” ของรัฐบาล เห็นได้จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อน “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บินไปสหรัฐอเมริกา ได้สั่งการบ้านด่วน!!! ให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เร่งทำมาตรการต่อเวลาลดภาษีดีเซลไปแล้ว ก่อนหมดเวลา พร้อมนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เคาะสัปดาห์นี้ เพื่อต่อลมหายใจเติมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ไม่ต้องผลักภาระมาให้ผู้บริโภค

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังได้หน่วงเวลาแบ่งเบาภาระเบื้องต้นไปก่อน เคาะตรึงราคาขายปลีกดีเซลประจำสัปดาห์ไว้คงเดิม 32 บาทต่อลิตร จากเดิมต้องปรับทยอยขึ้นอีก 1 บาทเป็น 33 บาทต่อลิตร ต้องลุ้นต่อสัปดาห์นี้ว่า จะตรึงต่อ หรือทยอยปรับขึ้นอีกหรือไม่!!! เพื่อขยับถึงเพดาน 35 บาทต่อลิตร จากราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันหากไม่มีการอุ้มราคาขึ้นไปทะลุ 40 บาทต่อลิตรแล้ว ชะตากรรม ณ เวลานี้ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นหลัก ที่ยังมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังลุ้นปัจจัยบวก ฝั่งยุโรปจะพ้นช่วงฤดูหนาว จึงต้องติดตามต่อไป…

ลดภาษี 3 บาทหรือ 5 บาท

สำหรับแนวทางการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลรอบนี้ อาจจะแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย โดยกระทรวงการคลังทำทางเลือกเสนอเป็น 2 ออพชั่น ให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจ ทางเลือกแรก คือลดภาษีน้ำมันลิตรละ 3 บาท นาน 3 เดือน แนวทางสอง คือ ลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตร 5 บาท ซึ่งจะใช้เวลา 2 เดือน

ทั้ง 2 แนวทาง กระทรวงการคลัง จะลิมิตใช้งบประมาณเท่ากันไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพราะไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณปลายปีได้ เพราะการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้รายได้ภาครัฐหายไปเดือนละ 1,900 ล้านบาท หากลด 3 บาท ก็จะหายไปเดือนละ 5,700 ล้านบาท หรือ 3 เดือนหายไป 17,100 ล้านบาท แต่หากลด 5 บาท นาน 2 เดือน จะกินเงินไปถึง 19,000 ล้านบาท

การพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว จำเป็นต้องประเมินร่วมกับการคาดการณ์รายได้ของรัฐบาลด้วย ซึ่งรายได้ของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 68,800 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 6.8% รายได้หลักมาจาก 3 กรมจัดเก็บภาษี ซึ่งกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย 1.01 แสนล้านบาท หรือเกินกว่าเป้า 13.5% กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.69 หมื่นล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 5.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีน้ำมัน และกรมศุลกากร จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,440 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายประมาณ 4.8%

เงินหมดหน้าตักหลังพิงฝา

ทางเลือกเหล่านี้จะต้องรอ “บิ๊กตู่” บินกลับมาจากสหรัฐ ก่อน แล้วมานั่งถกกันอีกรอบก่อนที่จะชงเข้า ครม.วันที่ 17 พ.ค.นี้ ส่วนจะเลือกแนวทางใด ลดภาษีมากแต่เวลาสั้น ๆ หรือลดน้อย ๆ แต่ลดนาน ๆ ก็สุดแล้วแต่ใจท่านผู้นำทั้งหลาย ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ควบคู่กับสถานะเงินในกระเป๋า เพราะการลดภาษีแต่ละครั้ง จะทำให้กระทบต่อฐานะการคลังตามมาด้วยเช่นกัน ยิ่งในวันนี้ฐานะการคลังของประเทศอยู่ในยุคหลังพิงฝา รายจ่ายเยอะมากจนขาดดุล แต่รายรับก็เก็บไม่เข้าเป้าอีก ก็ดึงดันลดภาษีต่ออาจจะยิ่งลำบากในระยะยาวได้

ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลต้อง “เหนื่อยหนัก” กับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นยังไม่หยุด ไหนจะต้องเครียดกับการ “ตัดสินใจ” ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิต เรื่องน่าหนักใจที่ต้องเร่งแก้ปัญหากองทุนน้ำมันติดลบหนัก 66,681 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างรอกู้เงินจากสถาบันการเงิน วงเงินลอตแรก 20,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท หลังจากร่อนหนังสือเชิญชวนไปยัง 10 สถาบันการเงิน มีเพียง 2 สถาบันการเงินรัฐ คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน จากเป้าหมายแรกจะต้องหาเงินกู้ให้ได้ เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็เลื่อนมาเป็นต้องจบดิวภายใน พ.ค. เพื่อให้ได้เงินกู้ไหลเข้ามาเสริมสภาพคล่องภายในมิ.ย.นี้

กองทุนติดลบกู้เงินไม่ได้

ที่ผ่านมาทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ชี้แจงเหตุผลของการกู้เงินที่ล่าช้า ว่า ที่กู้เงินล่าช้า เพราะสถาบันการเงินขอดูเอกสาร เช่น สเตจเมนท์ เพราะกองทุนฯ ขาดการติดต่อกับทางธนาคารไป 3 ปี ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านมาใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 62 ทางธนาคารต้องการความเชื่อมั่นว่า กองทุนน้ำมันฯจะสามารถอยู่ได้และไปต่อ หากมีการอนุมัติเงินกู้ให้ และธนาคารได้ขอดูสภาพคล่องของเงินไหลเข้า และไหลออกด้วย รวมไปถึงการประเมินราคาน้ำมันตลาดโลกคู่กันไป

แต่ถ้าธนาคารยังไม่ปล่อยเงินกู้ให้ หนีไม่พ้นสำนักงานกองทุนฯ ต้องของบประมาณจากรัฐบาล!!! แต่รัฐบาลจะมีงบประมาณในส่วนนี้ให้ได้หรือไม่? เพราะ ณ เวลานี้ รัฐบาลก็บักโกรกหนักเหมือนกัน ต้องกระจายงบประมาณอุ้มหลายๆ ด้าน ทั้งฟื้น ทั้งปั๊มกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลด้วย เท่ากับว่า “รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม” ไม่เช่นนั้นรัฐจะต้องทุ่มงบประมาณรอบด้านในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างมาก

มุมมองอดีต รมว.พลังงาน

ฟังเสียงสะท้อนมุมมองการแก้ปัญหาจากหลาย ๆ ฝ่าย เริ่มจาก “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีต รมว.พลังงาน และอดีต รมว.พาณิชย์ ซึ่งจะมองภาพได้ทั้งราคาน้ำมัน ราคาสินค้า เคยผ่านช่วงเวลาต้องแก้ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งเช่นกัน แม้จะไม่หนักเท่าสถานการณ์เวลานี้ก็ตาม ฉายภาพการแก้ปัญหา ทั้งมุมกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ให้ฟังว่า ผมได้ศึกษาการแก้ปัญหาระยะสั้นของราคาพลังงานแพงของรัฐบาลทั่วโลกพบว่า มีอยู่ 4 แนวทาง คือ 1. ลดภาษีชั่วคราวในช่วงเวลาที่มีปัญหา 2. รัฐตั้งงบประมาณอุดหนุน ซึ่งของเราก็เป็นในส่วนของกองทุนน้ำมัน 3. รัฐเข้าไปควบคุมโครงสร้างราคา ออกนโยบายให้ชัดเจนว่าจะควบคุมอะไรบ้าง และ 4. การอุดหนุนให้กลุ่มเปราะบาง

ดังนั้นเรื่องภาษี เป็นเรื่องนโยบาย ที่รัฐจำเป็นต้องหยิบมาใช้ในภาวะวิกฤติ ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเหลือ 3.20 บาทต่อลิตร ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ มองว่า อย่างน้อยภาครัฐควรต่อมาตรการดังกล่าว เพราะถ้าไม่ต่อ อาจจะมีผลกระแทกต่อต้นทุนสินค้า ที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าต้องขึ้นทั้งหมด ซึ่งรัฐต้องบริหารไม่ให้ราคาน้ำมันเกินกว่านั้น และกระทรวงพาณิชย์ต้องบริหารไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นสูงด้วย โดยการกำหนดระดับภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ควรกำหนดอัตราที่ไม่ให้ราคาดีเซลสูงขึ้นไปเกิน 35 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่นำมาสู่การปรับราคาสินค้าทั้งระบบ

จี้เลิกอิงราคาสิงคโปร์

ส่วนราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่มีการกำหนดราคาขายน้ำมันสำเร็จรูป ด้วยการอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์นั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนาน โดยฝ่ายหนึ่งมองว่า ราคาน้ำมันสิงคโปร์เป็นราคาที่มีมาตรฐานของภูมิภาคนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอิงราคาสิงคโปร์ เพราะเห็นว่ามีราคาค่าขนส่งและค่าประกัน เพิ่มเข้ามา ส่วนตนได้เคยเสนอไปแล้วว่า ในสถานการณ์วิกฤติวันนี้ มีโจทย์ว่า เราจะต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด อะไรที่เป็นเหตุที่ทำให้ราคาสูงโดยไม่จำเป็นก็ต้องตัดออกมา โดยอาจต้องยกเลิกการอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์เป็นการชั่วคราวได้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนน้ำมันดิบบวกค่าการกลั่นในประเทศแล้ว แบบใดถูกกว่าก็ใช้เป็นตัวตั้ง หากราคาสิงคโปร์ยังถูกกกว่าก็ใช้เหมือนเดิม ส่วนในระยะยาวนั้นอ้างอิงอย่างไรต้องถกเถียงกันต่อไป

สนธิรัตน์ ยังย้ำไว้ด้วยว่า เรื่องน้ำมัน เรื่องพลังงาน ทำให้รัฐบาลลำบากมาหลายยุคหลายสมัย เพราะฉะนั้นอย่าให้ไปถึงจุดนั้น และภาษีก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ทั้งโลกหยิบมาใช้ โดยช่วงเวลาอย่างนี้ชาวบ้านก็รู้สึกว่า รัฐต้องเสียสละเรื่องภาษีหรือเปล่า รัฐต้องไปพิจารณาว่าหากวิกฤติอีก 8 เดือน จะพอยอมได้ไหมในเรื่องภาษี อดีตก็เคยเดินมาแล้วภาษีสรรพสามิตดีเซลเหลือเพียงลิตรละ 0.005 บาท หรือครึ่งสตางค์มาแล้ว เพราะถึงอย่างไรหากเป็นภาระของรัฐอยู่ด้วย การบริหารในภาวะวิกฤติ ย่อมแตกต่างจากการการบริหารในภาวะปกติ ในภาวะวิกฤติต้องอาศัยความกล้าหาญในการเข้าไปบริหารจัดการ ต้องเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข บริหารโครงสร้างทั้งหมด จะปล่อยให้ผู้ประกอบการด้านใดด้านหนึ่งได้ประโยชน์อยู่เพียงฝ่ายเดียว รัฐต้องกล้าหาญในการเริ่มสื่อสารให้ทุกฝ่ายรับทราบตรงกันก่อนว่า เกิดปัญหาขึ้น แล้วค่อยมาบริหารร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ทั้งหลายทั้งปวงต้องจับตาว่า สุดท้ายแล้วรัฐนาวาของ “บิ๊กตู่” จะตัดสินใจอย่างไร รวมถึงแนวทางดูแลราคาน้ำมันดีเซลในอนาคตว่าจะทำอย่างไร จะปล่อยลอยตัวตลอดไปเลย หรือเร่งหาแนวทางออกมาช่วยเหลือประชาชนคนไทยต่อ!!