อย่างไรก็ตามซูเปอร์โพล ยังระบุอีกว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนยังมีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งเพราะคนจำนวนมากที่สุด 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.9 ยังไม่ตัดสินใจ และที่ตัดสินใจแล้วยังเปลี่ยนใจได้มีจำนวนมาก ในช่วงโค้งสุดท้ายจึงเป็นช่วงจังหวะสำคัญที่น่าเฝ้าติดตามการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในวันเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้  

จากผลการสำรวจครั้งนี้เป็นไปได้ว่าคะแนนเสียงของ สกลธี” และ สุชัชวีร์ อาจตีตื้นขึ้นมาได้จากกรณีดราม่า “ลาซาด้า” แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ชื่อดัง ที่ถูกเชื่อมโยงกับประเด็นอ่อนไหวของสังคม จนทุกเหล่าทัพต่างตบเท้าออกมาแบนลาซาด้า ห้ามเข้าพื้นที่ จนเป็นกระแสใหญ่โตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง “สกลธี” เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาโพสต์ข้อความตำหนิแพลตฟอร์มดังกล่าว แถมยังได้ “หมอเหรียญทอง” นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ขึ้นเวทีปราศรัยเป็นกองหนุนช่วยทำแต้มให้ด้วย ในขณะที่ “สุชัชวีร์” ที่สังกัดค่ายประชาธิปัตย์ ก็มีภาพลักษณ์ในทิศทางนี้อยู่แล้ว ซึ่งอาจโดนใจคน กทม.ที่เป็นหรือเคยเป็นมวลชนคนเสื้อเหลือง หรือ กปปส.เดิมเพิ่มขึ้น  

สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงยังคงเป็นจุดปะทะทางความคิดของมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายการเมือง 2 ขั้วในสังคมไทย หรืออดีตคน เสื้อเหลือง และ เสื้อแดง เก่า ซึ่งอีกฟากหนึ่งคือพรรคเพื่อไทย ที่ถือเป็นกองหนุนของ ชัชชาติ ได้จัดกิจกรรมรวมพลครอบครัวเพื่อไทย ที่ห้างอิมพีเรียล สำโรง จ.สมุทรปราการ ฐานที่มั่นเดิมของ นปช. หรือคนเสื้อแดง ถึงอยู่นอกพื้นที่ กทม. แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณตรงเข้ามาใจกลางพื้นที่เมืองกรุง  

เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วม และนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ประกาศชวนคนเสื้อแดงกลับบ้านร่วมสู้ศึกครั้งใหญ่กันอีกครั้ง แม้จะเป็นการโหมโรงเพื่อหวังแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งใหญ่ แต่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็จะถือเป็นการชิมลางและคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 

ทั้งนี้ในส่วนของเสื้อแดงที่กำลังถูกตามกลับบ้านเดิมนั้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นมวลชน เสื้อสีส้ม ของพรรคก้าวไกล ผนึกพลังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเรียกว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าพรรค หรือซีกการเมืองฝ่ายตรงข้ามของพรรคเพื่อไทย ที่จะมาตัดคะแนนทั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งใหญ่ในฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง  

ดังนั้นศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จึงเป็นสนามทดลองของการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครฯ คนใด ฝ่ายไหน จะมีกลยุทธ์และทีเด็ดในการมัดใจและช่วงชิงมวลชนในฝ่ายของตัวเองได้มากกว่ากัน ต้องมาลุ้นกันอย่างตาไม่กะพริบในวันที่ 22 พ.ค.นี้.