นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.64) เวลา 10.00 น. สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย พร้อมอีก 3 สมาคมฯ ได้แก่ สมาคมประสานงานรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะไทย และ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ข้างทำเนียบรัฐบาล เรื่องขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันทำให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อคุมเข้มการแพร่บาด ทั้งห้ามเข้าประเทศ ล็อกดาวน์พื้นที่มีจังหวัดที่การแพร่ระบาดสูง ให้ทำงานที่บ้าน (Work Form Home) และปิดสถานบริการ เพื่อลดการเดินทางของประชาชนและลดการติดเชื้อ  

นายศดิศ กล่าวต่อว่า ทำให้กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชน ผู้โดยสารใช้บริการผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยลดลงจำนวนมาก รายได้ขาดหายไปเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 รอบแรก หายไปกว่า 80% ของรายได้เดิม ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายในคนขับรถแท็กซี่  เพราะไม่สามารถหาเงินได้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังอยู่เช่นเดิม ทั้งเงินส่งให้ครอบครัว ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ หรือเงินชำระค่างวดรถ เป็นต้น ที่ผ่านมาจากการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก มี.ค.63 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลมีการช่วยเหลือบ้างแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ เยียวยาเงินตามโครงการต่างๆ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่รายย่อย

เพราะด้วยนโยบายที่ออกมาไม่มีคณะทำงานคอยสอดส่องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจัง จึงทำให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงนโยบายของภาครัฐที่ออกมา เช่น พักชำระหนี้ในการระบาดครั้งแรก 6 เดือน แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่พักชำระหนี้ ถูกคิดดอกเบี้ยสูง ตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท และการระบาดครั้งล่าสุดรุนแรงสุด ซึ่งได้ยื่นความจำนงขอความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล แต่อย่างใด  

นายศดิศ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยา 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยเข้าถึงมาตรการพักชำระหนี้ 1 ปี ทุกสถาบันการเงิน รวมทั้งไฟแนนซ์ ลิสซิ่งเอกชน และสหกรณ์ฯ ตามที่มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้จริง 2.ให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เมื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 รวมทั้งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีที่อยู่นอกเขต 13 จังหวัด โดยอ้างอิงฐานข้อมูลเดิมจากการรับเงินเยียวยาครั้งที่ผ่านมา

รวมทั้งผู้เช่าขับรถ ขณะนี้ได้คืนรถให้อู่หรือสหกรณ์ เพราะไม่มีผู้โดยสาร จึงจำเป็นต้องนำรถมาจอดไว้ก่อน แล้วกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่มีการล็อกดาวน์ เพราะไม่สามารถหารายได้ชำระค่างวดรถ และค่าเช่าได้ แต่ยังคงเป็นผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยเช่นเดิม และ 3.ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อมาแก้ปัญหาของผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยให้ครบวงจร อย่างไรก็ตามหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว เพราะผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยถือเป็นรถสาธารณะขั้นพื้นฐานหรือสาธารณะทางเลือกของประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการระบาดโควิดครั้งนี้ต่อไป