โดยสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 คือ การนำจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองมาดูว่าได้คะแนนเท่าใด แล้วจึงดีดลูกคิดออกมาเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคจะคว้าได้ในสภา จนครบ 100 คน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหนทางกลับมาครองอำนาจค่าย “นายใหญ่” ตามสไตล์ “นักเลือกตั้งเก๋าจอมเขี้ยวลากดิน” ใช่จะราบรื่น ต้องลุ้นด่านใหญ่ การลงมติร่างกฎหมายลูก วาระ 2-3 จะเกิดอภินิหารเสียงในสภา กลับลำไปใช้วิธีหารด้วย 500 หรือไม่ เพราะบล็อกกติกาใหม่ไม่ให้ไหลไปเข้าทางพรรคเพื่อไทยมากเกินไป ตราบใดที่ร่างกฎหมายลูกยังไม่ผ่านวาระ 3 ย่อมมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ก็ต้องลุ้นจะตกม้าตายในชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

เห็นได้จาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. …  ออกมาเย้ยแบบแสบๆคันๆว่า ไม่มีแลนด์สไลด์ เขาพูดไปเรื่อย เป็นการพูดที่ไม่ได้อยู่บนความจริง และครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้านต่อ ผมมั่นใจพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแน่นอน

งานนี้เส้นทางคัมแบ็กอำนาจ “นายห้างดูไบ” คงต้องประลองกำลังอีกหลายยก เอาแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่โหมโรงจะโค่น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม ในเวทีซักฟอกที่ยังต้องตามลุ้นจะเป็นอย่างไร แต่ดูสถานการณ์แล้วแนวโน้มฝ่ายค้านจะได้เสียงน็อกเกินครึ่งเป็นไปได้ยาก แต่อาจถูกถล่มสะบักสะบอมในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เชื่อว่า “บิ๊กตู่” ยังหนังเหนียว เอาตัวรอดได้

ลูกทีม “ลุงโทนี่” คงต้องเหนื่อยนัก เพราะยังไม่มีพลังเพียงพอ โหมสำเร็จโทษรัฐบาล “ลุงตู่” ก่อนครบเทอม ต้องไปลุ้นเปลี่ยนเกมตอนเลือกตั้งสมัยหน้า แนวโน้มหืดจับ แม้จะโชว์ขายของปักธงแลนด์สไลด์ เพราะกติกาเลือกตั้งเอื้ออำนวยเหมือนอ้อยเข้าปากช้างก็ตาม แต่อย่าลืมว่าต้องสู้รบกับคู่ปรับตัวฉกาจอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” และเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดอย่าง “พรรคก้าวไกล” เพราะช่วงชิงฐานมวลชนกลุ่มเดียวกัน ชัยชนะคงไม่ได้มาง่ายๆ เหมือนในอดีต.