ทำให้ภารกิจสำคัญหนึ่งของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คือด้านการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่ง “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครเบอร์ 6 พลิกมาเป็นนโยบายหลักในช่วงใกล้ๆ โค้งสุดท้าย เพิ่มจากนโยบายหลักเดิมที่จะสานต่องานให้จบ ทั้งเรื่องแก้น้ำท่วม เชื่อมการสื่อสาร แก้ทัศนวิสัยเรื่องสายไฟสายสื่อสาร เพิ่มพื้นที่สีเขียว

นำไปสู่การหาเสียงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โชว์สโลแกน “ปิดจ๊อบความจนเพื่อคนกรุงเทพฯ” โดยเน้นเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ การเพิ่มพื้นที่ค้าขาย ..ที่ต้องพิจารณาคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคกลางคืนที่เงินสะพัดมหาศาล “บิ๊กวิน” มีความคิดอย่างไร ส่วนเพิ่มพื้นที่ค้าขาย ต้องระวังจะกลายเป็นการสร้าง “ตลาดร้าง” ด้วย

ด้าน “จั้ม” นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 3 บอกเลยว่านโยบายตัวเองชัดเจนคือเรื่องหารายได้ให้กรุงเทพฯ เช่นเรื่องขยะให้เอกชนไปบริหาร ขายขยะรีไซเคิลได้ให้เอกชนไป พร้อมทั้งนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ากรุงเทพฯ เป็นรายได้เข้า กทม.อีกทาง เพื่อเอาเงินไปส่งเสริมงานอื่นๆ

ที่น่าสนใจและน่าจะโดนใจคนไทยในยุคเรียกร้องความเท่าเทียม คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ เบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล ชูนโยบายหารายได้ให้ กทม. โดยย้ำเรื่องการแก้ไขบัญญัติ กทม. ซึ่งควรจะต้องเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของก้าวไกลด้วย เพราะไม่แก้ระเบียบทุกอย่างก็เหมือนเดิมเหมือนไม่ได้กินยาแรง

นายวิโรจน์ ระบุว่า “เราเห็นเครือข่ายอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ชน เช่น ห้างใหญ่จ่ายค่าเก็บขยะไม่กี่หมื่น คนรวยจ่ายไม่สมเหตุสมผล เราเห็นผู้รับเหมารายเดิมงานเดิมยังไม่เสร็จแต่มีหน้าประมูลใหม่เรื่อยๆ เป็นอาการที่เรื้อรังของ กทม. เรื่องระบบรางรถไฟฟ้า คนที่ได้ประโยชน์คือ นายทุนอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งในต่างประเทศมีการเก็บ ภาษีลาภลอย ถ้าอยู่ๆ รถไฟฟ้ามาผ่านหน้าที่ดิน ราคาเพิ่ม ต้องเก็บภาษีลาภลอย เพราะคนตัวใหญ่ นายทุน ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเมืองแต่ไม่จ่ายอะไรเลย นายทุนอสังหาริมทรัพย์มีที่สวยๆ ไปปลูกกล้วย มะนาว ทำเป็นที่ตาบอด เป็นวิธีการเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน ซึ่งถ้า ส.ก.แก้ไม่ได้ ต้องไปแก้ในชั้น ส.ส.

ถ้าไม่อยากเสียภาษีที่ดินสูงๆ ก็เอามาทำเป็นสวนสาธารณะหรือสถานบริการสุขภาพให้ประชาชน นอกจากนั้นยังมีเรื่องภาษีป้าย บิลบอร์ดต่างๆ ที่เข้าระบบแค่ร้อยละ 30 เป็นเงินแค่ 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ต้องแก้ข้อบัญญัติให้เก็บจากนายทุนป้าย หรือบิลบอร์ดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท  

ในภาวะที่คนถูกกล่อมเกลาด้วยชุดความคิดที่ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากอันดับต้นๆ ของโลก ก็จะชอบแนวคิดเกี่ยวกับการ “เก็บเงินคนรวยเพิ่ม” ซึ่งบางอย่างก็สมเหตุสมผล เศรษฐีในประเทศไทยบางคนแทบจะเป็น “แลนด์ลอร์ด” แบ่งกระจายกับเครือข่าย ถือครองที่ดินเกิน 30,000 ไร่เข้าไปแล้ว คนก็หวังการกระจายทรัพยากรเป็นธรรม

เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีเสนอโมเดลหลากหลาย ซึ่งในต่างจังหวัดก็ได้ประโยชน์หากท้องถิ่นลองเอาแนวคิดบางเรื่องไปปรับใช้ให้เข้ากับศักยภาพของพื้นที่ หรือบางเรื่องก็ต้องพูดกันระดับชาติที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งการหาเสียงที่แข่งดุเดือดทำให้ประชาชนรู้ว่า นักการเมืองระดับท้องถิ่นสามารถทำอะไรให้เราได้บ้าง

แต่ถึงเวลาจะทำได้จริงหรือไม่ ติดระเบียบหรือขัดแย้งกับข้าราชการประจำเดิมก็ต้องดูกัน.