เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีข้อเสนอแนะให้นายกฯ สั่งยกเลิกการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ท่อน้ำอีอีซี) และเสนอเปิดคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้าประมูลใหม่ ให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม เป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดกว้าง ตรวจสอบได้ เพราะจากการเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลพบว่า กระบวนการคัดเลือกบริษัทมาบริหารจัดการน้ำในอีอีซีมีการกำหนดทีโออาร์ที่ไม่ชัดเจนเรื่องปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในการคำนวณ ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ และมีหลายประเด็นที่ขาดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการคัดเลือก อาทิ การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการทีโออาร์และลดสเปกทีโออาร์ลงมาในการประมูลรอบ 2 ที่กรมธนารักษ์ยังชี้แจงเหตุผลได้ไม่ชัดเจน
นายไชยา กล่าวว่า กมธ.ยังเห็นว่า การประมูลโครงการดังกล่าว มีแต่การใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงานคือ พ.ร.บ.ที่ราชพัสุด พ.ศ. 2562 ของกรมธนารักษ์เท่านั้น จึงมีข้อเสนอให้นำกฎหมายอื่นที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันและอนาคตมารองรับการขยายตัวการพัฒนาการใช้น้ำในเขตพื้นที่อีอีซี โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เป็นหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมดำเนินการกับกรมธนารักษ์คัดเลือก บริษัทที่จะเข้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี อาจต้องออกเป็นมติครม.ให้ความเห็นชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
“การดำเนินของ กมธ.ตรวจสอบเฉพาะกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนมีขั้นตอนถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้สอบลงลึกไปถึงขั้นว่ามีใครอยู่เบื้องหลังรับผลประโยชน์ทุจริตหรือไม่ เท่าที่ดูเบื้องต้นยังไม่พบมีการสั่งการจากบุคคลใดในการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ข้อเสนอของ กมธ.ที่ยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ขึ้นอยู่กับนายกฯ จะทำตามหรือไม่ หากผลสุดท้ายไม่มีการทบทวน ปล่อยให้เป็นไปตามการประมูลเหมือนเดิม ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะ กมธ.ได้เตือนแล้ว” นายไชยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดหนังสือที่ กมธ.ชุดดังกล่าวส่งไปถึง นายกรัฐมนตรี สรุปใจความสำคัญคือ กมธ.เสนอให้ยกเลิก การคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ท่อน้ำอีอีซี) พร้อมแนบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ มีรายละเอียด 4 ข้อ
1.การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะบริหารและจัดการน้ำในระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ยังมีการกำหนด TOR ที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในเนื้อหาสาระสำคัญ ทั้งในด้านวิศวกรรม สังคม กฎหมาย อาทิ ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในการคำนวณซึ่ง TOR ไม่ได้กำหนดปริมาณน้ำในการคำนวณประมาณน้ำต่อปีที่แน่ชัดทำให้ผู้ประกอบการใช้ปริมาณน้ำต่อปีมาคำนวณในการประมาณที่มากน้อยแตกต่างกัน คือ 151 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และ 350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้เกิดปัญหาข้อถกเถียงเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดทางวิศวกรรม เป็นต้น ประกอบกับมีการร้องเรียนอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ยังขาดความชัดเจนโปร่งใสของขั้นตอนกระบวนการดังกล่าวข้างต้น
2.เนื่องจากการใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงานอาทิ กรมธนารักษ์ได้ใช้พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ. 2564 ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดหาผู้ประกอบการ เห็นสมควรให้นำกฎหมายที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของปัจจุบันและอนาคตที่จะมีการขยายตัวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรองรับการใช้น้ำของทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอมาใช้ในการคัดเลือกผู้ที่จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำในระบบเส้นท่อของกรมธนารักษ์
3.เห็นควรให้มีคณะกรรมการกำกับภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้ควบคุมชั่วคราว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนดกลไกโครงสร้างราคาค่าน้ำในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการใช้น้ำและการบริหารเส้นท่อร่วมกัน
4.คณะกรรมาธิการเสนอให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ และเสนอให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ด้วยวิธีการประมูล เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปด้วยความโปร่งใสเปิดกว้าง ตรวจสอบได้ ทั้งยังเป็นการเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุด เป็นต้น.