เมื่อวันที่ 17 พ.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี โรงเรียนสตรีพัทลุง พยายามสู้ชีวิตให้ได้เรียนต่อแต่ไม่สมหวัง ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองว่า เป็นการสูญเสียที่น่าเสียใจและน่าเป็นห่วงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธและยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ มีโอกาสเกิดขึ้นในจิตใจของกลุ่มเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสูญเสีย ดังนั้นการดูแลเด็กกลุ่มนี้สำคัญมากคือการได้มีผู้ที่คอยรับฟังความรู้สึกติดค้างในใจและความทุกข์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกครอบครัว ผู้ใกล้ชิดหรือกลุ่มเพื่อน ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกได้มากที่สุด อีกทั้งยังพยายามประสานไปยังโรงเรียนเพื่อเข้าไปดูแลสภาพจิตใจของครูด้วย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

“เหตุนี้เป็นสิ่งสะเทือนใจสูงมาก ไม่ใช่การสูญเสียปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ที่หลาย ๆ คนอาจต้องการความช่วยเหลือ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์หรือทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยดูแลปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธที่มาก ๆ หรืออารมณ์ด้านลบอื่นใดที่เกิดขึ้นมากรวมถึง ปัญหาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การคิดวนเวียน การเกิดภาพติดตาที่มีเหตุการณ์บางเรื่องที่ชวนให้สะเทือนใจ ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพร้อมลงไปช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิต รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสาน รพ.พัทลุง ติดต่อถึงโรงเรียน เพื่อที่จะพยายามเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า คำแนะนำในการดูแลผู้เกี่ยวข้องคือการอยู่ใกล้ชิด เพื่อรับฟังความรู้สึก และเป็นการรับฟังที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด พยายามระมัดระวังการที่เด็กจะได้รับข้อมูลเชิงลบจากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าอาจจะไปเติมความคิดบางครั้งชักนำเด็กไปในทิศทางลบมากยิ่งขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น วิธีการสังเกต จะต้องดูอารมณ์ด้านลบที่ถ่ายทอดออกมา การบ่นถึงความทุกข์ความเศร้าอยู่ในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อาจจะมีการร้องไห้ คิดวนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว แต่ถ้ารบกวนการใช้ชีวิตเกินไป อาจต้องอาศัยยา หรือใช้กระบวนทางจิตวิทยา การบำบัดทางจิตใจ เข้าไปช่วยเหลือ

“สัญญาณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ความโกรธมาก ถึงขั้นคิดร้ายต่อตนเองหรือผู้อื่น แสดงออกถึงความก้าวร้าวหรือเสียใจมาก ต้องให้ความใส่ใจ และเรื่องของการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย ตกอยู่แต่ในความคิดเรื่องนี้เท่านั้น ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล” พญ.อัมพร กล่าว.