กดปุ่มนาฬิกาเซตระบบตั้งเวลานับถอยหลังอัตโนมัติกันได้เลย สำหรับฉากเปิดคูหาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งแรกในรอบ 9 ปี วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดทางให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้คะแนนสูงสุดเข้ามานั่งบริหารกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีพื้นที่ขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตร ภายใต้งบประมาณมหาศาล 80,000 ล้านบาท

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องทำงานยึดโยงกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หมวด 5 มาตรา 89 ที่ให้อำนาจ/หน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. บริหารกรุงเทพฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากถึง 27 ภารกิจ

โดยมีกลไกขับเคลื่อนภารกิจคือ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว มากกว่า 78,000 ชีวิต ภายใต้งบประมาณมหาศาล 80,000 ล้านบาท

การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน และมี “นิวโหวตเตอร์” (New Voters) เลือกตั้งครั้งแรก 16% หรือเกือบ 7 แสนคน

กกต.ตั้งเป้าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีคน กทม.ออกมาใช้สิทธิ ไม่ต่ำกว่า 70% หรือ 3,000,000 คน เทียบเคียงผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 56 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน ออกมาใช้สิทธิ 2,715,640 คน คิดเป็น 63.98%

ฟันธงล่วงหน้า หากยึดตามหลักคณิตศาสตร์การเมือง ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จะเต็มไปด้วยความดุเดือดจากฐานคะแนนกลุ่มการเมืองต่างๆ อ้างอิงจากคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้งปี 2562

(1) พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัคร 30 เขต กวาดเอ้าอี้ ส.ส.12 เขต ได้คะแนน 791,893 คะแนน คิดเป็น 25.53%

(2) พรรคอนาคตใหม่ ที่ปัจจุบันกลายร่างสองเป็นพรรคก้าวไกล ส่งผู้สมัคร 30 เขต ได้ ส.ส. 9 เขต 804,272 คะแนน 25.93%

(3) พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัคร 22 เขต ได้ ส.ส.กทม. 9 เขต 604,699 คะแนน 19.49%

(4) พรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัคร 30 เขต แพ้เลือกตั้งทุกเขต ได้คะแนน 474,820 คะแนน 15.31%

(5) ส่วนที่เหลือเป็นคะแนนเบี้ยหัวแตกเลือกพรรคอื่น และโหวตโน (Vote No) ไม่ประสงค์ลงคะแนน 426,596 คะแนน 13.74%

หากวิเคราะห์จากฐานคะแนนเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้จะขับเคี่ยวกันระหว่างฐานคะแนน 2 ก๊ก คือ (1) ก๊กพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ 1,266,713 คะแนน และ (2) ก๊กพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วย เพื่อไทยและก้าวไกล 1,408,971 คะแนน

โดยมีตัวแปรสำคัญอีก 2 ก๊กคือ (1) ก๊กคะแนนเบี้ยหัวแตก 426,596 คะแนน และ (2) ก๊กนิวโหวตเตอร์ 16% หลายแสนคะแนน

และมีตัวแปรแทรกคือ การตัดคะแนนระหว่างผู้สมัครขั้วเดียวกันเอง รวมถึงอาจเกิดปัจจัยเสริมเรื่องสภาพอากาศ ฝนตก น้ำท่วม เป็นอุปสรรคในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ คือสมรภูมิแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์เมืองหลวง ที่เสมือนเป็นกระจกสะท้อนไปถึงศึกเลือกตั้งใหญ่ ก่อนรัฐนาวาประยุทธ์ ครบวาระต้นปี 2566.

ขุนไพร พิเคราะห์การเมือง