เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่อาคารรื่นอรุณ อาคารอเนกประสงค์เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายจตุรงค์ พรหมวิจิต เกษตรจังหวัดนราธิวาส นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ พี่น้องเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ให้การต้อนรับ    

นายนิพนธ์ กล่าวว่า โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นโครงการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษาในปี 2545 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ทูลถวาย สมเด็จพระบรมฯ และทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ โดยโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่นี้ เป็นรูปแบบของการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรจะได้รับบริการแบบครบวงจรในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นการนำบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้ ด้านการเกษตรมาให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกรถึงในพื้นที่สามารถเข้าถึงงานบริการทางวิชาการ และได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ศูนย์บริการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาให้ได้รับการบริการทางการเกษตรอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและครบถ้วน  

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ภายในงานได้เปิดให้บริการถึง 13 คลินิก ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกข้าว คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกหม่อนไหม คลินิกส่งเสริมการเกษตร คลินิกการยางแห่งประเทศไทย และคลินิกสินเชื่อเพื่อเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสินค้าอุปโภค บริโภค ราคาพิเศษ เพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับบุคคลและครัวเรือน โดยเป็นการสะท้อนถึงตัวชี้วัดในด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ รายได้ การศึกษา เป็นต้น ซึ่งมีการดำเนินการที่สอดคล้องกันกับการแก้ไขปัญหาเรื่องการเกษตร ยกระดับราคาสินค้าการเกษตร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ที่จะทำให้เกษตรกรทุกกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้พ้นเส้นความยากจน.