เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์และศึกษาวิจัย โดยมี นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัด สธ. ผู้บริหาร สธ. และกรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันกัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยภายหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลในวันที่ 9 มิ.ย. กรมวิชาการเกษตร จะสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา เบื้องต้นเตรียมแจกต้นกล้ากัญชา กัญชง ให้ประชาชน 1 ล้านต้นฟรี นำไปสู่การใช้ประโยชน์ เช่น การทำงานอาหาร การดูแลสุขภาพตัวเอง พร้อมๆ กับการให้ความรู้ในการใช้ประโยชน์ ไม่ให้ใช้ในทางที่เกิดโทษ และหากทำได้ดีอาจต่อยอดเป็นเศรษฐกิจครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรมต่อไป

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่มีผลบังคับใช้ไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย. นั้น ตนได้มอบหมายให้รองปลัด สธ. ศึกษาหากฎหมายตัวอื่นเพื่อมาดูแล ป้องกันแทน ซึ่งมีหลายตัวที่สามารถป้องปรามการนำไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกระเบียบหรือกฎกระทรวง ออกมาควบคุมจนกว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีผลบังคับใช้ เช่น การสูบกัญชาทำให้เกิดกลิ่น เกิดควัน สามารถใช้กฎหมายเกี่ยวกับการก่อเหตุรำคาญรวมถึงกฎหมายควบคุมบุหรี่ เป็นต้น

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย 10 สายพันธุ์ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และเตรียมแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้ปลูก ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good AgriculturePractices : GAP) เบื้องต้นได้ขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจกกัญชาจำนวน 1 พันต้นภายในงานมหกรรม “360 องศา ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้อะไร” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา เพาะต้นกล้าและทยอยแจกในแต่ละเดือน ซึ่งยังบอกจำนวนไม่ได้ โดยหลักเกณฑ์การแจกอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือลงทะเบียนผ่านองค์การบริการส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมใช้ พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 เข้ามาดูแลเพื่อให้เมล็ดพันธุ์กัญชาที่นำเข้ามานั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ.