โดยผู้มีสิทธิที่สามารถออกไปใช้เสียงมีทั้งสิ้น 4,402,944 คน ใน 50 เขต 6,817 หน่วยเลือกตั้ง 1,705,437 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 2,004,521 คน และหญิง 2,398,423 คน จะได้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนน หลังจากห่างเกินการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปกว่า 9 ปี ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 เพื่อมาบริหาร ดูแลของเมืองกรุง ภายใต้งบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ซึ่งวันนี้ “เต็งหนึ่ง” อย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 ยังไม่เปลี่ยนแปลง เรตติ้งยังนำโด่ง ส่วนผู้สมัครลำดับรองๆ คงแทรกขึ้นมาลำบาก ยิ่งล่าสุดมาเจอ “พิษน้ำท่วม” กทม. จากอิทธิฤทธิ์ฝนตกกระหน่ำกรุงฯ น้ำท่วม รถติดสาหัส มีการแชร์ภาพผ่านโซเชียลประจานความอัปยศซ้ำซาก ส่งผลให้คู่แข่งคนสำคัญ อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 เสียแต้ม ตอกย้ำฉุดคะแนนแบบกู่ไม่กลับ

ช่วงเวลาที่เหลือ “เต็งหนึ่ง” กับ “คู่แข่งคนสำคัญ” ต้องสู้กันอย่างหนัก ทั้งบนดินและใต้ดิน ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต ก็แข่งกันแบบมันหยดเช่นกัน หลังเว้นว่างมาหลายปีเช่นกัน โดยในวันที่ 22 พ.ค.นี้ มีแนวโน้มว่าตามรูปการว่า ชาวกรุงเทพฯอาจจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 56 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค.56 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งมีคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 ที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง ร้อยละ 63.38 นับว่ามากที่สุดกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกครั้ง ถึงแม้ว่าในหลายพื้นที่ในช่วงก่อนเที่ยงและบ่ายจะมีฝนตกลงมาอย่างหนักก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์ วาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

การเลือกตั้งครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้วันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นวันดีเดย์ในการให้ชาว กทม.ออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เพื่อเลือกคนที่ชอบคนที่ใช่ มาทำหน้าที่บริหารงาน ดูแลทุกข์ สุข ประชาชนคนเมืองหลวง โดยตั้งเป้า มีคน กทม.ออกมาใช้สิทธิ ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 หรือ 3,000,000 คน

ซึ่งผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงการเมืองในระดับชาติได้ เพราะถ้าหาก “เต็งหนึ่ง” ชนะเลือกตั้ง แล้วยังได้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทย มีโอกาสได้ ส.ส.กลับมามากขึ้น ตามแผนที่ตั้งเป้าไว้คือการแลนด์สไลด์ ก็ไม่ไกลเกินฝัน ส่วนขั้วตรงกันข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ก็ส่อหมดอนาคตในสนาม กทม. หรือแทบจะสูญพันธ์ซ้ำซาก

เพราะคำตอบจากผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นการบอกใบ้นัยๆ ว่า คนกรุงเทพ เบื่อ 2 พรรคนี้ ซึ่งจะสะท้อนไปถึงตัวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 พรรคพลังประชารัฐชนะรอบที่แล้วได้ ส.ส.กทม. จำนวน 12 คน จาก 30 คน  เพราะกระแส “ลุงตู่” ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็พลิกล็อกไม่ได้ ส.ส.กทม. แม้แต่คนเดียว ก็อาจส่อแววสูญพันธ์ุซ้ำซากอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันที่น่าจับตา คือกลุ่ม “พลังเงียบ” และ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ว่าจะแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรหรือไม่  

ดังนั้นศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้แม้จะเป็นระดับสนามเล็ก แต่ก็เป็นการชี้ชะตาถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ในสนามใหญ่ ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้ไปต่อแบบสวยๆ หรือส่อแววสาหัส สะบักสะบอม??.