เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 2 ฉบับ ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมาถึง คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งล่าสุดกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาพิจารณาเนื้อหาแล้วเสร็จและเตรียมส่งให้ประธานรัฐสภาในสัปดาห์หน้า ว่า จากการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง ทั้งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การนับคะแนนแบบคู่ขนาน และใช้สูตรคำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 100 คนหารนั้น ผลที่เกิดขึ้นคือการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะยังเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือไม่ขอตั้งเป็นคำถาม ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ถือเป็นพรรคขนาดกลาง ซึ่งกลุ่มขนาดกลางและกลุ่มขนาดเล็ก เสียเปรียบภายใต้กติกาดังกล่าว

“การแก้ไขกติกาเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรมกับทุกพรรค แต่เป็นการสร้างทางเลือกให้พรรคใหญ่เข้มแข็ง และในสภาจะมีพรรคใหญ่ไม่กี่พรรค อีกทั้งภายใต้กติกาดังกล่าวจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง ได้ ส.ส.ในสภาทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อมากตามไปด้วย โดยคาดว่าโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เพื่อไทยแลนด์สไลด์ เป็นพรรคเดียวที่ได้ ส.ส.เกินครึ่งของสภา เกิดขึ้นได้”

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า แนวโน้มอนาคตการเมือง อาจมีพรรคการเมืองเป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ที่มีแนวความคิดต่างกัน เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มี 2 พรรคใหญ่ผลัดกันเป็นรัฐบาล ส่วนพรรคอื่นต้องล้มหายตายจากไป

เมื่อถามถึง ภาพของการเมืองไทยหลังจากมีกติกาเลือกตั้งแบบใหม่ นายสมชัย กล่าวว่า ภาพในระยะสั้น ยังต้องจับตาการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระสองและวาระสาม โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่หารด้วย 100 คน ที่ไม่ได้รับการยอมรับจาก ส.ว. และเชื่อว่ามีส่วนสำคัญต่อการลงมติ ที่อาจเป็นไปได้ว่าจะตีตกร่างกฎหมายทั้งในมาตราที่เกี่ยวข้องหรือทั้งฉบับ

“คะแนนลงมติที่ตัดสินว่าจะผ่านวาระ 2 และวาระ 3 ใช้ข้างมากของที่ประชุมสำหรับเสียง ส.ว. รวมกันคือ 1 ใน 3 ของสภา และในขั้นการโหวตของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ที่ ส.ว.เสียงแตก ได้มีการคุยกันว่าเพราะลุงสองคนส่งสัญญาณไม่ชัดเจน ไม่คุยกันให้ดี ทำให้ พรรคพลังประชารัฐ หนุน 100 คนหาร แต่ ส.ว.ไม่สนับสนุนดังนั้นในอนาคตต้องดูว่าสองลุงจะคุยกันหรือไม่หรือส่งสัญญาณที่ชัดเจนอย่างใดหรือไม่”

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนระยะยาวหากเปลี่ยยนแปลงกติกา สิ่งที่จะเกิดกับการเลือกตั้งทั่วไป พรรคที่ตั้งใหม่ และพรรคเล็ก ต้องหาทางให้ตนเองอยู่รอด เช่น รวมกับพรรคใหญ่เพราะเชื่อว่าพรรคตั้งใหม่ หรือขนาดเล็กจะได้คะแนนเลือกตั้งไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส.เข้าสภา ซึ่งมีการประเมินว่าต้องได้ 3.5 แสนคะแนน ถึง 3.7 แสนคะแนน ขณะที่พรรคที่ไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่ ในการหาเสียง ต้องสร้างการยอมรับของประชาชนในวงกว้างให้คะแนนนิยมของพรรค มีส่วนทำให้มาช่วยได้รับการเลือกตั้งเขต และได้บัญชีรายชื่อที่มากขึ้น แต่เหนื่อยมากกว่าเดิม เพราะพรรคใหญ่ได้เปรียบ ทั้งผู้สมัคร ส.ส. แถวหน้าของจังหวัดจะไหลเข้าพรรค รวมถึงทุน ที่คาดการณ์ว่าพรรคใหญ่ได้เป็นรัฐบาลในอนาคต ดังนั้นพรรคใหญ่จึงได้เปรียบทั้งในเชิงกติกา และคัดหาผู้สมัครและทุนจากฝ่ายนักธุรกิจ