ที่กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีเพจ Friends Talk เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มีปัญหาสุขภาพ ร่างกายอยู่ในจุดวิกฤติ มีอาการวูบวันละ 10 รอบ มีเลือดออกตามไรฟันว่า น.ส.ทานตะวันไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยขั้นวิกฤติดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด โดยช่วงเช้าวันนี้พยาบาลวิชาชีพได้เข้าตรวจสุขภาพ น.ส.ทานตะวัน พบว่า น.ส.ทานตะวันรู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี สัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกายความดันโลหิต อัตราการหายใจ ค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ ในระหว่างวัน น.ส.ทานตะวันมีการดื่มนมโอวัลติน 2 กล่อง ชานม 1 แก้ว น้ำเปล่า 1 ขวด และแบรนด์วีต้าเบอร์รี่ 1 ขวด และเข้าร่วมกิจกรรมของทัณฑสถานหญิงกลาง ใช้เวลาอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ตามปกติรวมถึงมีการเข้าพบทนายเพื่อปรึกษาคดีความตามสิทธิของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ทัณฑสถานหญิงกลางได้จัดเจ้าหน้าที่พยาบาลเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

นายธวัชชัย กล่าวยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนถือปฏิบัติ ยึดมั่นในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) อย่างเท่าเทียม ตลอดจนต้องควบคุมผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) รวมถึงข้อกําหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจํา (Bangkok Rules) อย่างเคร่งครัด

ส่วนที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ภายหลังทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 8 และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว แล้วนั้น

ต่อมา ศาลอาญาอ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจาก พนักงานอัยการผู้ร้องว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 เวลาประมาณ 13.00 น. พนักงานอัยการ จึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทันประกอบกับคดีนี้เป็น คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พนักงานอัยการต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของทางสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อนและได้ส่ง สํานวนให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วในวันเดียวกันหลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วัน และผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเองและคณะกรรมการฯสามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้ แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้ พนักงานอัยการไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง

ศาลเห็นว่าเมื่อ พนักงานอัยการผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่19 พ.ค.65 เวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทันและคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือ มาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้

1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (1) กรณีการฝากขังของ พนักงานอัยการผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณา หลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 26

2.ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้ เป็นเวลา 7วัน นับ แต่วันที่ 23-29 พ.ค.65 แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106

โดยในส่วนคำสั่งประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งว่า ให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว เสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวจะเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก หากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับก่อนหน้านี้สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตฝากขังเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งวันนี้ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก7 วัน จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากพนักงานอัยการยังไม่สามารถยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวันได้ ก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที