“มองไกล เห็นใกล้” หาก “โฟกัส” ไปที่ข้อกฎหมาย เห็นได้ว่าแม้เจตนาดี แต่เหตุใดถึงมีข้อถกเถียง ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นการได้มา เพราะเมื่อ “คาร์ซีท” กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีตามกฎหมาย  ในยามเศรษฐกิจเช่นนี้ เสียงบ่นระงมจากภาระทางการเงินที่ดูเหมือนมาอย่างกะทันหันไม่ทันตั้งตัว ทำนองว่าออกกฎหมายมาผิดที่ ผิดเวลา

มาปรับเปลี่ยนกฎหมายตอนนี้เหมือนไปเพิ่มค่าใช้จ่ายประชาชน ยามที่รายรับสวนทางกับรายจ่าย ถึงขั้นที่ว่าเงินจะกินข้าวยังไม่มี จะเอาที่ไหนซื้อ “คาร์ซีท”

แต่เดี๋ยวใจเย็นๆ ก่อน ใช่ว่าออกกฎหมายแล้วจะบังคับใช้เลยซะที่ไหน มีเวลาอีกกว่า 120 วัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องร่างข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติมาบังคับใช้

เจตนาดีของกฎหมายที่หวังลดโอกาสเกิดอุบติเหตุ ต้องควบคู่ไปกับการให้เวลาผู้ปกครองที่มีบุตรหลานได้ปรับตัว มิเพียงเท่านี้ “รัฐ” ต้องเข้ามามีบทบาทหามาตรการมา “สนับสนุน” โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ แม้ตอนนี้พี่ไทยจะออกมาตรการ “ลดภาษี” หรือออกเป็นสินค้าควบคุมก็ตาม แต่ดูเหมือนมีพ่อค้าบางรายอาศัยจังหวะความต้องการขึ้นราคา ตอกหน้ารัฐที่งัดไม้แข็ง บทโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

จะว่าไปกฎหมาย “คาร์ซีท” กว่า 96 ประเทศทั่วโลก นำมาบังคับใช้ เนื่องจากสามารถปกป้องและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้กับเด็กได้ถึงร้อยละ 70 แม้ในรายละเอียดของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเรื่องอายุ ส่วนสูง หรือกระทั่งประเภทของคาร์ซีท แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแนวทางเดียวกันคือ “บทลงโทษที่เข้มงวด”

ยกตัวอย่าง ฝรั่งเศส หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องเสียค่าปรับสูงถึง 5 พันบาท หรือ สิงคโปร์ ค่าปรับสูงถึง 1 พันดอลลาร์สิงคโปร์ และจำคุก 3 เดือน หากจะให้กฎหมายฉบับนี้เดินได้โดยเท่าเทียม ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่งเสริมการปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อราคาถูก เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน ยิ่งบางครอบครัวที่มีลูกหลายคนยิ่งเพิ่มภาระ

ไม่ต้องมองที่ไหนไกล ดูบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง “มาเลเชีย” เพิ่งประกาศใช้กฎหมายนี้ต้นปีที่ผ่านมา หลังค้างมาหลายขวบปี และน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไทยอาจนำมาปรับใช้เป็นแนวทาง โดยมาเลเชียตัดสินใจออกโครงการ “คาร์ซีทคนละครึ่ง” ช่วยเหลือครอบครัวรายได้น้อย

งื่อนไขของโครงการคือรัฐบาลจะช่วยเค่าคาร์ซีท 50% แต่จ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 150 ริงกิต (ประมาณ 1,200 บาท) ครอบครัวที่มีสิทธิสมัครรับความช่วยเหลือต้องเป็นครอบครัวที่อยู่ในกลุ่ม B40 หรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยสุด 40% ล่างของประเทศ หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 4,850 ริงกิต (38,325 บาท) หันมามองที่บ้านเราพอจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐจะขยับเข้ามาดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการปรับลดภาษีนำเข้าในช่วงปรับตัวเข้าสู่กฎหมายใหม่ อย่าให้ใครเขาว่าได้ว่า “ประกาศใช้ในวันที่ไม่พร้อม”

นายอัคคี