เมื่อวันที่ 21 พ.ค. รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ประเมินว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ตัวแปรสำคัญคือกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ หรือช่วงอายุ 43-57 ปี มีประมาณ 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 33 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจเลือกใครแล้วไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะเป็นวัยทำงานไม่ค่อยตามกระแสสื่อหลากหลายแบบตามเวลาจริงหรือเรียลไทม์ แต่สิ่งที่จะทำให้คนรุ่นนี้เปลี่ยนความคิดได้คือผลงานของรัฐบาล หรือปัญหาอื่นๆ ที่กระทบเขาแค่ไหน เพราะการเลือกตั้งเที่ยวนี้เห็นภาพได้ว่ามีสองขั้วคือขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน

“นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเจเนอเรชั่น Y หรือช่วงอายุ 28-42 ปี ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง เพราะเขาเล็งเห็นว่า การเมืองมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อการงาน เขาต้องดูแลคนแก่ มีภาระครอบครัว การเข้าถึงเนื้อหาสื่อได้ง่ายทำให้เขาเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง เห็นปัญหาค่าครองชีพสูง ซึ่งกลุ่มเจเนอเรชั่น Y มีโอกาสเลือกขั้วฝ่ายค้านสูง กลุ่มนี้มีราวร้อยละ 27 ถ้ากลุ่มเจเนอเรชั่น X สวิงเสียงมารวมกับเจเนอเรชั่น Y จะมีเสียงโหวตสูงมาก ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์กับกลุ่มเงียบ มักเลือกฝั่งพันธมิตรรัฐบาล ภาพรวมคือกลุ่มคนรุ่นใหม่เลือกตั้งครั้งแรก หรือเจเนอเรชั่น Z กับ Y จะไม่เอารัฐบาล จึงเห็นได้ว่า กลุ่มที่ทำให้เกิดการสวิงเสียงได้มากที่สุดคือกลุ่มเจเนอเรชั่น X กลุ่มนี้ไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยมเท่ากลุ่ม Z กับ Y แต่เขาต้องการความก้าวหน้าบางอย่าง แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกปลอดภัย” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับประเด็นการกำหนดนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ที่ซื้อใจคนกรุงเทพฯ รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ซื้อใจคนกรุงเทพฯ มากที่สุดคือนโยบายเรื่องขนส่งสาธารณะ เพราะกระทบชีวิตคนกรุงเทพฯ ในเรื่องสำคัญคือ 1. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแพง หากต้องมีการต่อรถ 2.ปัญหาเรื่องความปลอดภัย กรณีหากต้องรอรถเมล์กลางคืนตามลำพัง ผู้ว่าฯ กทม.จะสามารถจ้างรถร่วมบริการได้หรือไม่ 3. การเดินทางใช้เวลานานกระทบกับการใช้เวลากับครอบครัว

อีกเรื่องหนึ่งคือการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.บางคนพูดมีประเด็นเรื่องน้ำไม่ไหลลงท่อเพราะท่ออยู่สูง กทม.ใช้งบ 10 ปี ไป 5 หมื่นล้านบาท ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังแก้อะไรไม่ค่อยได้ ที่ต้องทำแผนระยะสั้น คือต้องหาจุดสำคัญที่น้ำท่วมขัง ส่งคนเข้าไปทันที ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเงินตัวทองไปติดท่อหรือน้ำมันเครื่องสูบน้ำหมด ในส่วนของระยะกลางคือการต้องลอกท่อ และระยะยาว คือการวางโครงสร้างท่อทั้งเมือง รวมถึงกำแพงกั้นน้ำทะเลหนุน ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ

เมื่อถามถึงนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ลำดับต้นๆ มันเป็นเรื่องที่พูดได้ ทำไม่ยาก แต่มันเหมือนเป็นความฝันของชนชั้นกลางที่อยากมีสวน มีเมืองสวยๆ แต่คนระดับล่าง คนหาเช้ากินค่ำที่มีจำนวนมากตื่นมาต้องนั่งรถมาทำงาน 3 ต่อ จะมีเวลาใช้สวนหรือไม่ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการไปดูเรื่องงานโยธา เกี่ยวกับการทำฟุตปาธให้เรียบหากอ้างว่า หลายหน่วยงานต้องมาขุด เช่น วางท่อน้ำ วางสายสื่อสาร ผู้ว่าฯ กทม.ก็ต้องทำตัวเป็นเจ้าบ้าน ประสานจุดเดียวให้มีการบังคับบัญชาการในการเข้าไปทำทีเดียวพร้อมกัน

เมื่อถามถึงการที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.บางรายมีนโยบายแก้จน รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ต้องกลับไปมองเรื่องการลดภาระประชาชนเรื่องค่าเดินทาง สำหรับการจัดระเบียบเมือง ทำให้มีพื้นที่ทำมาหากินมากขึ้น เช่น เปิดตลาดได้ แต่ต้องพิจารณาความคุ้มทุนจากพฤติกรรมคนซื้อของในยุคปัจจุบันที่ซื้อขายออนไลน์มากขึ้นด้วย สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนเกี่ยวกับผังเมือง การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เช่น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยเพราะคนรอบข้างคนอยู่เดิมได้รับผลกระทบ การเกิดคอนโดฯ ใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ มันส่งผลกระทบต่อการแย่งถนน ทางเท้ากระทบกับการอยู่ร่วมกันในชุมชน แต่ยังมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แตะเรื่องผังเมืองน้อย

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ประชากรแฝง คนอยู่ในกรุงเทพฯ เกือบสิบล้าน มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แค่ 4.4 ล้านคน ทั้งที่กลุ่มประชากรแฝงนี้บางคนอาศัยหรือทำงานในกรุงเทพฯ มานานแค่ทะเบียนบ้านอยู่ที่อื่น เขาได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ไม่มีใครพูดถึงคนเหล่านี้ อาจต้องออกแบบการเลือกตั้งโดยคุยกับ กกต. ว่า ให้ประชากรแฝงมีการลงทะเบียนมีสิทธิเลือกตั้งด้วยคุยเรื่องการกำหนดเกณฑ์เช่นมีหลักฐานการเรียนหรือทำงานในกรุงเทพฯ เกิน 5 ปี มีการป้องกันการระดมคนมาเป็นประชากรแฝงเวลาจะเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้ควรพิจารณาไปถึงเลือกตั้งใหญ่ด้วย เช่น ในจังหวัดที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมอย่างระยอง คนทำงานที่อยู่มานานก็ควรได้สิทธิเลือก ส.ส.ที่จะดูแลชีวิตเขาตรงนั้น และให้เสียงของเขาได้มีพลังในการต่อรอง กำหนดความต้องการในพื้นที่ ไม่ใช่ต้อง ส.ส.ตามสิทธิทะเบียนบ้านเท่านั้น ที่บางครั้งกลุ่มแรงงานก็ไม่ได้รับการดูแลจาก ส.ส.ตามทะเบียนบ้าน” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณ สรุปภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้คือการแบ่งเป็นขั้วรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ถ้าคะแนนขั้วตรงข้ามรัฐบาลรวมแล้วได้คะแนนสูงกว่าคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 62 ของพรรครัฐบาลก็เป็นที่น่าสนใจ สิ่งที่ต้องจับตาอีกอย่างหนึ่งคือการเลือก ส.ก. เป็นการเช็กคะแนนรายเขตเพื่อวางแผนการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้แต่พรรคกล้ายังส่ง ส.ก. พรรคไทยสร้างไทยจะมาได้หรือไม่ ต้องดูคะแนน ส.ก.แต่ที่สำคัญคือเป็นบทเรียนสำหรับบางกลุ่ม บางพรรคที่เป็นขั้วเดียวกันว่า ส่งคนตัดคะแนนกันเอง มีผล และเรื่องโพลสามารถชี้นำได้ระดับหนึ่ง แม้แต่ละคนมีคนในใจ แต่ก็มีคนชอบอยู่กับฝ่ายชนะ.