วันที่ 21 พ.ค.65  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมี 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน   

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รัฐมนตรีพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุม มีตัวแทนจาก 5 ชาติ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลุกขึ้นวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม เพื่อแสดงการประท้วงรัสเซีย ที่เปิดฉากบุกยูเครน แต่หลังจากนายเรียชเชสนิคอฟ กล่าวเสร็จ ผู้แทนของทั้ง 5 ประเทศ ก็ได้กลับเข้าห้องประชุม ต่อมาช่วงบ่ายยังได้รับรายงานว่า ทางสหรัฐ และญี่ปุ่น ไม่ได้เข้าร่วมฟังระหว่างที่ รมว.พัฒนาเศรษฐกิจ ของรัสเซีย ขึ้นกล่าวอีกครั้ง 

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่มี 5 ประเทศได้วอล์กเอาต์ ซึ่งนายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมที่ประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเขตเศรษฐกิจไหนจะมีความเห็นอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละเขต แต่ในภาพรวมยังเดินหน้าไปได้ด้วยดีและเป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง  

สำหรับความขัดแย้งของสมาชิก จะทำให้รัฐมนตรีการค้าไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมหรือไม่นั้น เรื่องแถลงการณ์ร่วมจะเป็นความเห็นร่วมกันของสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าทั้งหมดได้ ซึ่งทุกฝ่ายกำลังพิจารณาแถลงการณ์ร่วมอยู่ แต่หากไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ ก็ไม่ถือว่าประชุมนี้ล้มเหลว เพราะเอเปคยังคงเดินหน้าต่อได้ และยังมีความคืบหน้าอยู่

ส่วนผลการหารือทวิภาคี กับนายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รมว.พัฒนาเศรษฐกิจ ของรัสเซีย โดยไทยได้แจ้งการนัดหารือคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงแจ้งให้รัฐมนตรีการค้ารัสเซียทราบว่า ไทยสนใจทำเอฟทีเอกับสหภาพยูเรเซีย 5 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน แต่เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคในการประสานงาน เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องใช้สถานทูตไทยในเจนีวา ในการประสานงาน ส่วนบางประเทศในสหภาพยูเรเซียไม่ได้มีสถานทูตอยู่ในไทยและรัสเซีย โดยสถานทูตเจนีวาของไทยจะเป็นผู้ช่วยกันประสานงานเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป 

ขณะที่ทางรัสเซียได้หารือถึงการสนับสนุนเป้าหมายทางการค้าที่ตกลง ปีหน้าจะทำมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่ม รวมทั้งขอสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถใช้บัตรที่เรียกว่า MIR Card และให้สนับสนุนเที่ยวบินตรง เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบัน มีธนาคารไทยบางแห่งมีความสนใจทำ MIR Card แล้ว นอกจากนี้ รัสเซียยังสนใจสินค้าจากไทย เช่น อาหาร ยานยนต์ ข้าว ผลไม้ และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่รัสเซียมีความสนใจลงทุนในไทย โดยเฉพาะด้านไอที