ปิดฉาก!!! ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (เอ็มอาร์ที) ซึ่งประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 22 ..ที่ผ่านมา โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 2546 โดยผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาแม้อาจยังห่างไกล แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะขยายขนาดเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น

21 ชาติสมาชิกพร้อมหน้า

แม้การประชุมรอบนี้…จะเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ร้อน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด แถมยังกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ และภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มชาติตะวันตก แต่บรรดารัฐมนตรีการค้าที่เป็นสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ต่างตบเท้าเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกา ไม้เบื่อไม้เมาอย่างรัสเซีย หรือแม้กระทั่งจีนที่เข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ เนื่องจากมีนโยบายโควิดที่เข้มงวด ประกอบด้วยสมาชิกที่เหลือทั้ง ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี  ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ จีนไทเป และเวียดนาม

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าภาพหลักการจัดประชุม ได้วางคิวการประชุมไว้ต่อเนื่อง 4 วันติด เริ่มตั้งแต่ 19-22 พ.ค. 65 ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการค้าการลงทุน ครบถ้วน ไล่ตั้งแต่รัฐมนตรี ภาคเอกชน และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส  ซึ่งใน 2 วันแรก วันที่ 19-20 พ.ค. 65 ถือเป็นออร์เดิร์ฟ เรียกน้ำย่อย โดยเปิดฉาก…ด้วยการจัดสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเปิดทางให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนไทย เข้ามามีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความเห็น ถึงการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเปคร่วมกัน

ดันเอฟทีเอเอเปคบีซีจี

ขณะที่วันที่ 20 พ.ค. 65 ได้จัดเวทีเสวนานานาชาติ “บีซีจี ซิมโพเซียม” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม แอพ ชาเลนจ์ ประกวดแข่งขันแอพพลิเคชั่น เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยปีนี้กำหนดโจทย์ช่วยเหลือให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในเอเปค สามารถต่อยอดด้านเกษตรและอาหาร สร้างโอกาสเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดส่งออก

จากนั้น… ก็เข้าสู่การประชุมเวทีใหญ่ ในนาม รัฐมนตรีการค้าเอเปค หรือเอ็มอาร์ที ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 21-22 พ.ค. 65 โดยประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ และประธานการประชุมได้วางเป้าหมาย ขับเคลื่อนความร่วมมือส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้องค์การการค้าโลก การหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องการขับเคลื่อนเอฟทีเอ เอเปค ให้เกิดความต่อเนื่อง หลังจากมีการประกาศวิสัยทัศน์ปุตราจายา ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 63

ปั้นเอฟทีเอใหญ่สุดในโลก

ประเทศไทยมีความพยายามผลักดันให้เขตการค้าเสรีเอเปคให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการถกถึงสาระสำคัญที่จะระบุไว้ในเอฟทีเอ เอเปคหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น อีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน พร้อมกับคาดหวังให้เอฟทีเอเอเปคเกิดได้จริงก่อนเป้าหมายปี ค.ศ. 2040 หรือปี 2583 เพื่อให้เกิดการขยายการค้า การลงทุนระหว่างชาติสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเหลือ 0% การเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ การช่วยลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า  ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นกุญแจที่ช่วยให้ทุกประเทศฟันฝ่าวิกฤติไปได้ 

หากทำสำเร็จ“เอฟทีเอ เอเปค” จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด และมีมูลค่าการค้ารวมกันมากสุดในโลกทันที  โดยกระทรวงพาณิชย์ได้วิเคราะห์ตลาดของเอฟทีเอ เอเปค ว่าจะมีประชากรร่วมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และเมื่อเปิดเสรีขึ้นจริง จะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสมาชิกเอเปคขยายตัวได้ 200-400%

ปั้นเอสเอ็มอีร่วมบีซีจี

อย่างไรก็ตาม การจัดทำ เอฟทีเอ เอเปค ให้สำเร็จ ยังมีเส้นทางอีกยาวไกล และมีความท้าทายรออยู่อีกหลายประเด็น เนื่องจากพื้นฐานของสมาชิกเอเปค มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทั้งภูมิประเทศ เชื้อชาติ ภาษา ขนาดเศรษฐกิจ และที่สำคัญ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเจรจาอีกหลายรอบกว่าจะเห็นผลได้

ส่วนอีกวาระหนึ่งที่ประเทศไทยได้ผลักดันอย่างเข้มข้น คือ การนำโมเดล “เศรษฐกิจ บีซีจี” ที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติของไทย เข้ามาใช้ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและกลุ่มสมาชิก ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่างมุ่งทำให้เกิดการใช้ตั้งแต่ภาคการผลิต เศรษฐกิจฐานราก ธุรกิจรายย่อย และเอสเอ็มอี ให้เดินหน้าไปสู่การปรับปรุงการผลิตทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามกรอบพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

ทวิภาคี 5 บิ๊กเศรษฐกิจ

นอกจากในการประชุมเวทีรัฐมนตรีการค้าใหญ่แล้ว ประเทศไทย ยังมีการเจรจาทวิภาคีระดับรัฐมนตรีกับอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย การหารือแบบทวิภาคีกับ “ฮ่องกง” โดยในเวทีนี้ ประเทศไทยได้ขอให้ทางฮ่องกงให้การสนับสนุนในการนำเข้าข้าว ผลไม้ในระดับพรีเมียมจากไทย เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ทุเรียน ลำไย รวมถึงขอให้สนับสนุนธุรกิจภาพยนตร์ ดิจิทัล คอนเทนต์ และใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เพิ่มเติมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีของฮ่องกงก็ยินดีร่วมมือ แต่ก็ขอให้ไทยช่วยสนับสนุน ฮ่องกง ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) 15 ประเทศที่จะเปิดสมัครในปีหน้า

จากนั้นยังได้หารือทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตกับสหรัฐ ทวิภาคีกับรัสเซีย เพื่อสานความสัมพันธ์เศรษฐกิจ และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย รวมถึงทวิภาคีกับญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในมิติใหม่ ผ่านข้อริเริ่มการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่น เพื่ออนาคตของญี่ปุ่นที่จัดให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการแห่งอนาคตภายใต้กลุ่มบีซีจี อาทิ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า เกษตรอัจฉริยะ บริการสุขภาพและการแพทย์ และปิดท้ายด้วยการทวิภาคีกับแคนาดา เพื่อขอให้แคนาดานำเข้าข้าว สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าสร้างสรรค์ ผลไม้ และช่วยส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทยในแคนาดาเพิ่มเติมด้วย

ส่งต่อสุดยอดผู้นำเอเปค

หลังจากปิดประชุมไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเจ้าภาพจะมีการนำผลหารือของรัฐมนตรีการค้าเอเปค และความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดทำเอฟทีเอ เอเปค สรุปส่งต่อไปยังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค หรือเอเปค ซัมมิท ซึ่งจะมีการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศในช่วงเดือน พ.ย. ปีนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสนำไปต่อยอดความก้าวหน้าในการเจรจาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

เวทีรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งนี้ ได้มีการคาดหวังว่าจะส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจของไทยได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกยิ่งขึ้น การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมทางดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาส ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นจังหวะดีที่ไทยจะใช้งานประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคช่วยโปรโมตประเทศ แสดงความพร้อมในการเปิดประเทศ กลับมาต้อนรับชาวโลกอีกครั้ง

ทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ เชื่อได้ว่าวันนี้พรุ่งนี้คงยังไม่ได้คำตอบ แต่ต้องรอดูผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวต่อไป!!.