เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้แยกงบประมาณบริหารจัดการกองทุนบัตรทอง โดยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2564 เฉลี่ย 3,719.23 บาทต่อคน ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยนอก 1,280.01 บาทต่อคน และงบบริการผู้ป่วยใน 1,440.03 บาทต่อคน ทั้งนี้ผลการดำเนินงานปีงบฯ 2564 ผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการ 161.171 ล้านครั้ง เฉลี่ย 3.437 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนการรับบริการผู้ป่วยรับบริการ 5.75 ล้านครั้ง เฉลี่ย 0.122 ครั้งต่อคนต่อปี โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่วางแผนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้ มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยเพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดี และลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประเทศในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ 10 อันดับแรกที่เข้ารับบริการผู้ป่วยนอกคือ โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ รับบริการ 25.47 ล้านครั้ง โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 13.84 ล้านครั้ง ความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไลโพโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่น หรือไขมันในเลือดผิดปกติ 11.24 ล้านครั้ง โรคไตวายเรื้อรัง 5.47 ล้านครั้ง เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน หรือโรคหวัด 5.13 ล้านครั้ง ความผิดปกติแบบอื่นของเนื้อเยื่ออ่อน ปวดกล้ามเนื้อ 4.16 ล้านครั้ง โรคกระเพาะอาหาร 3.21 ล้านครั้ง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกอื่น 2.73 ล้านครั้ง โรคฟันผุ 2.72 ล้านครั้ง และเวียนศีรษะ วิงเวียน 2.20 ล้านครั้ง

ส่วน 10 อันดับการรับบริการผู้ป่วยในสูงสุดคือ ภาวะต้องการมาตรการป้องกันโรคโดยการแยกกักตัวและรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2.68 แสนครั้ง ปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส 2.28 แสนครั้ง ทารกปกติที่คลอดในโรงพยาบาล 2.25 แสนครั้ง กระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ และจากสาเหตุที่ไม่ระบุ 1.92 แสนครั้ง โรคปอดบวมไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ 1.45 แสนครั้ง โรคไตวายเรื้อรัง 1.21 แสนครั้ง มารดาคลอดธรรมชาติ (ครรภ์เดี่ยว) 1.08 แสนครั้ง ภาวะหัวใจล้มเหลว 1.08 แสนครั้ง โรคธาลัสซีเมีย 1.03 แสนครั้ง และการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ 9.76 หมื่นครั้ง