สำหรับคนทั่วไปแล้วการได้เป็นเจ้าของสินค้าในแบรนด์สินค้าไฮเอนด์หรือสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับท็อปของโลก ถือว่าเป็นความสำเร็จหนึ่งในชีวิตของเราแล้ว แต่ในโลกของสินค้าระดับไฮเอนด์แน่นอนว่า ในบรรดาเศรษฐีแล้วก็จะมีการแบ่งชนชั้นออกเป็นมหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐี ที่แน่นอนว่าจะมีสินค้าบางแบรนด์ที่พร้อมจะสร้างสินค้าพิเศษที่ “ไม่เหมือนใคร” สำหรับลูกค้าระดับอภิมหาเศรษฐีคนพิเศษ ที่พร้อมจะจ่ายค่าพรีเมียมไม่อั้นให้ดังเช่นรถยนต์ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก อย่าง เฟอร์รารี เอสพี 48 ยูนิกา (FerrariSP48 Unica) คันนี้

รถที่สร้างขึ้นเพียงคันเดียวนี้จะว่าไปก็เหมือนกับเป็นรถระดับโปรโตไทป์หรือรถต้น แบบก็ว่าได้ ในอดีตยุคที่รถยนต์ยังสร้างด้วยมือหรือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น การจะสร้างรถยนต์ที่ผลิตจำนวนจำกัดหรือผลิตขึ้นมาโดยพิเศษเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะแปลกนัก แต่หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ เข้าสู่ยุคการผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบแล้ว เรื่องของการผลิตรถจำนวนจำกัดหรือรถที่สร้างขึ้นเพียงคันเดียวนั้นได้กลายเป็นของหายากไป และมีก็แต่เพียงกลุ่มลูกค้าระดับอภิมหาเศรษฐีตัวจริงเท่านั้น ที่สามารถจ่ายเงินเพื่อครอบครองความพิเศษนี้ได้

เฟอร์รารี ตระกูล เอสพี (SP) นี้ก็เช่นกัน ถูกกำหนดขึ้นเพื่อขายสินค้าที่มีความพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ “เฟอร์รารีคัดสรรแล้ว” เท่านั้น หรือว่าง่าย ๆ คือสินค้าเลือกเจ้าของก็ว่าได้ โดยรถรุ่นเอสพี 48 ยูนิกาที่ชื่อ “ยูนิกา” ที่แปลว่า “หนึ่งเดียว” นี้ก็บอกชัดเจนว่า เป็นรถที่มีเพียงคันเดียวโดยถูกรังสรรค์ขึ้นโดยนักออกแบบของเฟอร์รารีร่วมกับเจ้าของรถ โดยสร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถรุ่นเอฟ 8 ทริบิวโต (F8Tributo) ที่เป็นรถสไตล์เครื่องวางกลางลำแบบวี8 เทอร์โบ แต่ได้รับการรังสรรค์ตัวถังขึ้นมาใหม่หมด

เริ่มต้นจากหน้าตารถคันนี้มีการออกแบบช่องดูดลมด้านหน้าที่โดดเด่นจากการใช้รูปแบบของรูเล็ก ๆ ไล่สเกลที่เรียกกันว่าพาราเมตริก ดีไซน์ (Parametric Design) หรือที่ทางเฟอร์รารีเรียกว่าโปรซิดิวรัล พาราเมตริค โมเดลลิ่ง (Procedural Parametric Modelling) โดยรถรุ่นอื่นของเฟอร์รารีที่มีสไตล์คล้ายกันนี้มีเพียงรุ่น “โรมา” (Roma) เท่านั้น และแนวทางการใช้รูปแบบของรูเล็ก ๆ ไล่สเกลเล็กไปใหญ่นี้ก็ได้ถูกนำไปใช้กับส่วนต่าง ๆ ของตัวรถทั่วคัน อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากรถรุ่นอื่น ๆ อย่างชัดเจนก็คือ มุมมองจากด้านหลังคา รถเอสพี 48 นี้ไม่มีช่องกระจกหลังโดยบนหลังคารถนั้นเราจะเห็นแถบสีดำลากยาวมาจากกระจกหน้า แล้วค่อย ๆ ละลายหายไปจนกลายเป็นสีเดียวกับตัวรถไปในที่สุดบนบริเวณฝาครอบเครื่องด้วยเทคนิคพาราเมตริก ดีไซน์ นับว่าเป็นงานออกแบบที่ละเมียดละไมมาก และอีกจุดที่แตกต่างไปจากเฟอร์รารีเครื่องกลางลำคันอื่น ๆ ก็คือรถคันนี้ไม่โชว์ห้องเครื่องให้ใครเห็น

มาถึงด้านท้ายให้ลืมภาพลักษณ์ของเฟอร์รารีในอดีตที่มีไฟท้ายกลม ๆ ไปได้เลย รถคันนี้มาพร้อมกับไฟท้ายแบนเรียว 4 ดวง ที่สอดรับเข้ากับปีกเล็ก ๆ ทั้งด้านบนและด้านล่างได้อย่างงดงาม เรียกได้ว่าแม้จะเป็นการสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษเพียงคันเดียว แต่ก็ไม่แน่ว่าในวันข้างหน้าจะมีรายละเอียดบางอย่างตกทอดไปสู่รถในอนาคตของแบรนด์ก็ได้เช่นกัน.

โดย…ภัทรกิติ์ โกมลกิติ