เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะได้เดินทางด้วยเรือสปีดโบ๊ตจาก อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่นำมาทำแนวปะการังเทียมและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก โดยนายวราวุธ ได้เตรียมดำน้ำลงสำรวจบริเวณดังกล่าวด้วยตัวเอง ทั้งนี้แทนสำรวจนํ้ามันดังกล่าวได้จัดวางไว้บริเวณใต้ทะเลพื้นที่ อ.เกาะพะงัน ซึ่งเป็นแห่งแรกที่นำแท่นสำรวจน้ำมันมาทำประโยชน์ ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ใต้ทะเล จากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีพบว่าบริเวณดังกล่าวมีอุปสรรค เนื่องจากคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง ทำให้คณะต้องยกเลิกภารกิจของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะลงดำน้ำสำรวจต้องถูกยกเลิก
ต่อมาทีมดำน้ำได้ลงสำรวจบริเวณดังกล่าว เพื่อติดตามสภาพแวดล้อมบริเวณจุดวางแท่นสำรวจม้ำมัน เพื่อให้เป็นแหล่งปะการังเทียมล่วงหน้า พบว่ามีความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ ซึ่ีงพบว่าบริเวณดังกล่าวมีปะการังอ่อนและปะการังแข็งเกิดขึ้นอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยหลบภัยจากสัตว์ใหญ่ที่หากินร่วมถึงการล่าของมนุษย์ด้วย ซึ่งจะทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดยังคงขยายพันธุ์ได้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะร่วมมือพันธมิตรเร่งถอดบทเรียนติดตามผลกระทบทุกมิติอย่างใกล้ชิด พร้อมพัฒนาต่อยอดขยายพื้นที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลของอ่างไทยต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางทะเลมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงหาแนวทางในการยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการังของประเทศไทย ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้มอบสำรวจน้ำมันจำนวน 7 ขา ที่เป็นแท่นที่หมดอายุสัมปทานมาจัดวางให้เป็นปะการังเทียม
ภายหลังการวางขาแท่นสำรวจน้ำมันให้เป็นแหล่งปะการังเทียม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ซึ่งการลดกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงแรก ทำให้ประสิทธิภาพของการเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามได้มีการติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมแผนประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ด้านนายวราวุธ เปิดเผยว่า อยากให้มีการศึกษาเทคนิคเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสมองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด.